📒
Knowledge-Base
  • Knowledge Base
  • Tutorials
    • Python
      • Introduction
      • Important basic syntax
      • Awesome Python
      • Python 101
      • Python Cheat sheet
      • โครงสร้างของภาษา
      • Library & Package
      • Variable & Data Types
      • Lists
      • Dictionary
      • Function
      • Built-in Function
        • enumerate()
      • Modules
      • Classes & Objects
      • Inheritance
      • Date & Time
      • การใช้งาน Virtualenv
    • Pandas
      • Learning Pandas Second Edition
        • 2. Running with pandas
        • 3. Data with the Series
        • 4. Create DataFrame
        • 5. Manipulating DataFrame Structure
  • e-Book
    • Tech
      • Automate the Boring Stuff
      • A Whirlwind Tour of Python
  • Innovation & Tech
    • Python
    • Pandas
      • 10 Pandas tips
    • Web Scraping
      • Web Scraping 101
      • Requests and BeautifulSoup
  • Industry
    • 20 แนวคิดขายของออนไลน์
    • แผนระยะยาวของ Toyota
    • โลกหลังยุคโลกาภิวัฒน์
  • Opinion
    • บรรยง พงษ์พานิช: กับดักรัฐราชการ 4.0
    • ปัญญาภิญโญ ณ Wongnai WeShare
    • ประเทศไทยในความคิด ความคิดในประเทศไทย
    • การสถาปนา ‘รัฐบรรษัทอำนาจนิยม’ ในสังคมไทย
  • People
    • “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”
    • โซเชียลมีเดีย ในมุมมองของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก
  • Parent
    • ADULTIFICTION
    • ความฉลาดสร้างได้
    • การเรียนรู้ของลูกในวันนี้
    • CODING คืออะไร
    • สอน CODING อย่างไรให้ง่าย
    • 8 ข้อครูควรรู้ เมื่อจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์
  • Lift
    • คุณรู้สึกว่า โลกทุกวันนี้หมุนเร็วและแคบลงหรือเปล่า?
    • ปัจจุบันเราต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง
    • กฎ 40% ของหน่วย SEAL
    • e-Book
      • Sapiens – A Brief History of Humankind
        • [สรุป] โฮโม เซเปียนส์ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่
        • ตอนที่ 1- กำเนิด Homo Sapiens
        • ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก
        • ตอนที่ 3 – ยุคแห่งการล่าสัตว์เก็บพืชผล
        • ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
        • ตอนที่ 5 – คุกที่มองไม่เห็น
        • ตอนที่ 6 – กำเนิดภาษาเขียน
        • ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ
        • ตอนที่ 8 – โลกที่ถูกหลอมรวม
        • ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา
        • ตอนที่ 10 – จักรวรรดิ
        • ตอนที่ 11 – บทบาทของศาสนา
        • ตอนที่ 12 – ศาสนาไร้พระเจ้า
        • ตอนที่ 13 – ยุคแห่งความไม่รู้
        • ตอนที่ 14 – 500 ปีแห่งความก้าวหน้า
        • ตอนที่ 15 – เมื่อยุโรปครองโลก
        • ตอนที่ 16 – สวัสดีทุนนิยม
        • ตอนที่ 17 – จานอลูมิเนียมของนโปเลียน
        • ตอนที่ 18 – ครอบครัวล่มสลาย
        • ตอนที่ 19 – สุขสมบ่มิสม
        • ตอนที่ 20 – อวสาน Sapiens
      • Homo Deus
        • [สรุปหนังสือ] Homo Deus
        • ตอนที่ 1: สามวาระใหม่แห่งอนาคต
        • ตอนที่ 2: คำสาปเรื่องดีอุส
        • ตอนที่ 3: เซเปียนส์ครองโลกได้อย่างไร
        • ตอนที่ 4: พลังของจิตวิสัยร่วม
        • ตอนที่ 5: ข้อตกลงเรื่องความทันสมัยกับเทวทัณฑ์
        • ตอนที่ 6: ปลายทางของการปฏิวัติมนุษย์นิยมคืออภิมนุษย์
        • ตอนที่ 7: ไม่มีทั้งเจตจำนงเสรีและวิญญาณในโลกของข้อมูลนิยม (dataism)
        • ตอนที่ 8: เซเปียนส์กลายเป็นสิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์ได้อย่างไร
        • ตอนที่ 9: มิจฉาทิฐิที่ร้ายแรงที่สุดในยุคขัอมูลนิยม (dataism)
        • ตอนที่ 10: พลังกุณฑาลินี คือเส้นทางสู่ด้านสว่างของ Homo Deus
        • ตอนที่ 11: ทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง​(Theory​ of​ Everything)​ของลัทธิข้อมูลนิยมกับ​วิถีแห่งตัวตน
        • ตอนที่ 12: เราต้องก้าวข้ามแต่หลอมรวมลัทธิข้อมูลนิยม
  • See Behind the FX rate
  • Obtaining Stock Prices
  • Monte Carlo Simulation in Finance Python Part-2
  • The Easiest Data Cleaning Method using Python & Pandas
  • How to use iloc and loc for Indexing and Slicing Pandas Dataframes
  • Converting HTML to a Jupyter Notebook
  • Top 50 Tips & Tricks
Powered by GitBook
On this page

Was this helpful?

  1. Parent

8 ข้อครูควรรู้ เมื่อจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์

Previousสอน CODING อย่างไรให้ง่ายNextLift

Last updated 5 years ago

Was this helpful?

EXPERIENTIAL LEARNING: 8 ข้อครูควรรู้ เมื่อจัดการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์

  • เพราะหัวใจของการศึกษาคือ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง

  • ครูคือผู้ช่วยคนสำคัญที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียน โดยเน้นการเรียนรู้ที่เด็กได้คิดเองทำเอง และนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้กับชีวิตและการทำงานจริง

  • ครูและผู้สนใจการศึกษาแบบนี้ เริ่มต้นได้ด้วย ‘ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือ Experiential Learning Theory

“หัวใจหลักของการศึกษาควรอยู่ที่การเข้าใจองค์ความรู้จากการได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง”

ดังนั้น การจะเข้าถึงความรู้อย่างแท้จริง ครูต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้าไปมีประสบการณ์โดยตรง มุ่งเน้นการเรียนรู้ที่เด็กได้คิดเองทำเอง และสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้กับชีวิตและการทำงานจริง เช่น ไปเรียนปลูกข้าวในทุ่งนา ทดลองทำสบู่ในห้องแล็บ หรือก่อตั้งสหกรณ์ร้านค้าในโรงเรียน

นี่เป็นสาระสำคัญของ ‘ทฤษฎีการเรียนรู้จากประสบการณ์’ หรือ Experiential Learning Theory (ELT) โดย ดร.เดวิด เอ. โคล์บ (Dr.David A. Kolb) นักทฤษฎีการศึกษา ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้

หลักการของ ELT มีอยู่ว่า คนเรามีรูปแบบการเรียนรู้อยู่ 4 โหมดซึ่งหมุนเป็นวงจร สลับสับเปลี่ยนอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาได้แก่ experiencing (มีประสบการณ์ ลงมือทำ) reflecting (ใคร่ครวญ) thinking (คิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ใหม่ด้วยตนเอง) และ acting (ลงมือทำซ้ำจากความรู้ ความเข้าใจที่พัฒนาขึ้น)

ภาพที่ 1 วงจรของการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (The Experiential Learning Cycle)

ด้วยเป้าหมายและหลักการที่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของสังคมปัจจุบัน ELT จึงกลายเป็นแนวทางจัดการศึกษาที่ได้รับการยอมรับและถูกนำไปประยุกต์ใช้ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วโลกและถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับของนิวซีแลนด์และสิงคโปร์เลยทีเดียว

เพื่อให้ครูสามารถเข้าถึงแก่นสำคัญของ ELT ได้อย่างรวบรัดและหยิบจับไปใช้ได้ง่ายที่สุด บทความนี้จึงตั้งใจสรุปสาระสำคัญ 8 ข้อ มาไว้ให้ พร้อมข้อแนะนำที่ครูสามารถนำไปใช้ต่อยอดจัดกิจกรรมเสริมหรือแบบทดสอบที่กระตุ้นการเรียนรู้ได้ดังนี้

1. การเรียนรู้เป็นวงจรต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุด

วงจรการเรียนรู้ (learning cycle) เป็นกระบวนการของการแลกเปลี่ยนระหว่างโลกภายในของผู้เรียนกับสิ่งแวดล้อมภายนอก ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่สิ้นสุด เหมือนการหายใจ ที่เป็นกระบวนการรับเข้า-ปล่อยออก ที่ดำเนินไปตลอดชีวิต

สำหรับครูหรือผู้จัดการเรียนรู้ การเรียนรู้จึงต้องให้ผู้เรียนได้ ‘รับเข้า’ และ ‘เอาออก’ คือให้ผู้เรียนรับความรู้ที่จำเป็นในการใช้ชีวิตและการทำงานในโลกปัจจุบันเข้ามา และให้เขาถ่ายทอดสิ่งที่ได้เรียนรู้นั้นออกมา เป็นช่วงการ ‘เอาออก’ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง

การเรียนรู้จึงไม่ใช่การส่งออกความรู้จากครูและผู้เรียนเป็นผู้รับ แบบเป็นเส้นตรง (linear) แต่ในวงจรการเรียนรู้จะเริ่มจาก

1) ผู้เรียนรับข้อมูลผ่านการมีประสบการณ์ ลงมือทำ (concrete experience)

2) เปลี่ยนข้อมูลจากการมีประสบการณ์นั้นด้วยการใคร่ครวญ (reflection)

3) คิดวิเคราะห์-สังเคราะห์ความรู้จากการได้มีประสบการณ์ และคิดใคร่ครวญ (thinking) ทำให้ผู้เรียนมีข้อมูล ความรู้ และความเข้าใจแบบหนึ่ง

4) ผู้เรียนจะเปลี่ยนความรู้และความเข้าใจนั้นอีกครั้งผ่านการลงมือทำซ้ำ (acting) เหล่านี้เป็นวงจรเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นทั้งผู้รับและผู้สร้างความรู้

Tip สำหรับครู: ควรออกแบบวิชาหรือหลักสูตรให้มีวงจรเรียนรู้ experiencing-reflecting-thinking-acting เป็นซีรีส์ๆ (ดังภาพที่ 2) เพื่อสร้างวงจรการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นผ่านสถานการณ์ที่ซับซ้อน หรือต้องประยุกต์ความรู้ เพราะโหมดการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นซ้ำแต่ละครั้งจะขยายความเข้าใจของเด็กได้ เด็กจะค้นพบว่าในทางปฏิบัติเขาจะเจอปัญหาหรือข้อจำกัดอะไร และพบการประยุกต์ความรู้ใหม่ที่ทำได้หลากหลายโดยการนำสิ่งที่เคยเรียนรู้ในสถานการณ์หนึ่งมาใช้ในอีกสถานการณ์

ภาพที่ 2 เกลียวการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ (The Experiential Learning Spiral)

2. ประสบการณ์จริง สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเรียนรู้

ในวงจรการเรียนรู้ ‘การมีประสบการณ์’ (experience) นั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกโหมดในวงจรการเรียนรู้คือประสบการณ์ทั้งหมด แต่เป็น ‘ประสบการณ์’ ที่เกิดขึ้นที่นี่ เดี๋ยวนี้ ที่นำไปสู่การเรียนรู้ บางประสบการณ์และพฤติกรรมที่เราเจอะเจอและทำมันทุกวันอาจเป็นสิ่งที่เราปฏิบัติสืบต่อกันมาและทำไปโดยอัตโนมัติเนื่องจากการเรียนรู้ก่อนหน้านั้นหล่อหลอมขึ้นเป็นนิสัยและวิถีประเพณีที่ติดตัวมาโดยตลอด ถึงประสบการณ์อาจจะดูเป็นสิ่งใหม่ที่เพิ่งประสบแต่แท้จริงมันคือสิ่งที่แฝงไว้ด้วยการตีความของคนรุ่นก่อนหน้าเรามาแล้วทั้งสิ้น

จอห์น ดิวอีย์ (John Dewey) นักจิตวิทยาและปฏิรูปการศึกษาชาวอเมริกันชี้ว่า การที่คนเราจะใคร่ครวญและเข้าใจวิถีทางของประสบการณ์ในลักษณะนี้ได้นั้นต้องเข้าไปสัมผัสประสบการณ์เหล่านั้นอย่างลึกซึ้งก่อน เช่น เมื่อเรา ‘ติดขัด’ กับปัญหา เกิดความยากลำบาก หรือ ‘ประหลาดใจ’ กับสิ่งที่แปลกใหม่ต่างจากประสบการณ์เดิมที่ผ่านมา วิลเลียม เจมส์ (William James-1977) นักจิตวิทยาชื่อดังเรียกประสบการณ์นี้ว่า ‘ประสบการณ์บริสุทธิ์’ (pure experience)

หลายคนมองว่าการใคร่ครวญ ถอดบทเรียนจากสิ่งที่เรียนรู้ในประสบการณ์เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ที่จริงแล้วขั้นตอนแรกสุดที่จะนำไปสู่การใคร่ครวญถอดบทเรียน คือการได้เข้าไปสัมผัสกับประสบการณ์ ‘บริสุทธิ์’ ที่ลบล้างวิธีคิดเก่า หรือเมื่อได้เผชิญกับสิ่งที่เหนือความคาดหมายเดิมต่างหาก แม้การเรียนรู้อาจเกิดขึ้นได้จากประสบการณ์ที่พบเจอได้ทุกวันก็ตามที แต่การเรียนรู้ที่ได้ก็มักให้คำตอบคล้ายเดิมหรืออาจช่วยเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมได้เพียงนิดเดียว

ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นอย่างความเชื่อหรือพฤติกรรมต้องอาศัยประสบการณ์ในระดับ ‘ช็อก’ เท่านั้นจึงจะเปลี่ยนได้

Tip สำหรับครู: จำเป็นมากที่ครูต้องออกแบบประสบการณ์เรียนรู้ เช่น การทำโครงการ (field project) บทบาทสมมุติ (role play) หรือแบบฝึกหัดซึ่งให้ผู้เรียนได้เข้าไป ‘สัมผัสประสบการณ์’ เองจริงๆ ไม่ใช่แค่ร่วมกิจกรรมในชั้นเรียนแบบผิวเผิน

การจัดการเรียนรู้โดยประสบการณ์ (experiential approach) เป็นการนำเอาวิชามาเป็นศูนย์กลางเพื่อให้ทั้งครูผู้สอนและผู้เรียนได้สัมผัสไปด้วยกัน ดังที่ พาร์คเกอร์ พาลเมอร์ (Parker Palmer) กล่าวไว้ว่า ‘the third thing (the subject) has a presence so real, so vivid, so vocal, that it can hold teacher and students alike accountable for what they say and do’ – ‘เมื่อความรู้นั้นปรากฏอย่างจริงแท้ คมชัดและกึกก้องมากพอ มันจะสามารถกุมทั้งการพูด การกระทำของครูและนักเรียนไว้อย่างอยู่หมัดได้’

3. สมองถูกสร้างมาเพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์

มีงานศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างวงจรการเรียนรู้และหน้าที่การทำงานในสมองจำนวนมาก แต่งานที่อธิบายวงจรการเรียนรู้ของมนุษย์ด้วยความรู้ทางประสาทวิทยาอย่างเป็นระบบได้ยอดเยี่ยมที่สุดคืองานวิจัยของ เจมส์ ซัล (James Zull) อาจารย์ชีววิทยาและชีวเคมี ซึ่งเขียนสรุปความรู้ที่น่าสนใจที่ได้จากงานวิจัยไว้ในหนังสือ ‘The Art of Changing the Brain’ (2002) และ ‘From Brain to Mind’ (2011)

ซัลนำทฤษฎี Constructivism (มีหลักการว่าผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง) มาแจกแจงใหม่โดยการใช้ประสาทวิทยามาอธิบาย โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่าองค์ความรู้เกิดในโครงข่ายเซลล์สมองบนสมองชั้นนอก (neo-cortex) ซึ่งเชื่อมต่อกันขึ้นด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ ดังนั้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสมอง คือ มีการเจริญเติบโต เพิ่มและลดจำนวนของเซลล์ (pruning) การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ (synapses) และจำนวนโครงข่ายเซลล์

จึงกล่าวได้ว่า การเรียนรู้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของสมอง และการศึกษาคือศิลปะของการเปลี่ยนแปลงสมองเลยทีเดียว ซัลพบว่าพื้นที่สมองบางส่วนมีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับวงจรการเรียนรู้ โดยไม่ผูกติดกับโหมดใดโหมดหนึ่ง (ดูภาพที่ 3) ซึ่งลำดับการทำงานของสมองประกอบไปด้วยการรับประสบการณ์ (CE-concrete experience) ความทรงจำ (RO-reflective observation) การคิดเป็นหลักการ (AC-abstract conceptualisation) และการลงมือทำ (AE-active experimentation) ดังนี้

  • สัมผัสประสบการณ์และรับรู้ผัสสะในเปลือกสมอง ประสาทสัมผัส (sensory cortex) เป็นสื่อรับข้อมูลทางผัสสะจากโลกภายนอก

  • ภาพที่จดจำได้เป็นความทรงจำเกิดขึ้นที่สมองส่วนหลัง การคิดใคร่ครวญและความทรงจำเกิดขึ้นจากการประมวลผลข้อมูลที่ได้จากประสาทสัมผัสจนเกิดเป็นภาพและทำความเข้าใจความหมายที่สมองส่วนหลัง (back integration cortex)

  • การคิดวิเคราะห์เกิดขึ้นที่สมองส่วนหน้า การคิดแบบใช้หลักการและเหตุผลเป็นการประมวลผลที่สมองส่วนหน้า (frontal integrative cortex) โดยเอาข้อมูลความทรงจำระยะสั้นที่เก็บไว้มาคัดสรร วางแผนและแก้ไขเพื่อสรุปให้ตรงเป้าหมาย

  • ประสาทสั่งการทำงานเมื่อทดลองและลงมือทำ การลงมือทำคือขั้นตอนที่สมองใช้ประสาทสั่งการ (motor cortex) การลงมือทำถือเป็นการสิ้นสุดวงจรการเรียนรู้ สมองจะเริ่มทำการเชื่อมต่อกับโลกภายนอกอีกครั้งก่อเกิดเป็นประสบการณ์ใหม่ซึ่งสตาร์ทให้เกิดวงจรการเรียนรู้ใหม่ขึ้น

ภาพที่ 3 วงจรการเรียนรู้และการทำงานของสมอง ที่มา: หนังสือ The Art of Changing the Brain: Enriching the Practice of Teaching by Exploring the Biology of Learning โดย James E. Zull

Tip สำหรับครู: มีข้อสรุปน่าสนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้จากประสบการณ์ที่สรุปจากหนังสือทั้งสองเล่มของซัล ซึ่งครูสามารถนำไปปรับใช้ได้ดังนี้

  • ความเข้าใจลึกซึ้งจะเกิดขึ้นได้ ครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนได้ใช้รูปแบบการเรียนรู้ทั้งสี่อย่างสมดุล

  • แต่ละรูปแบบการเรียนรู้มีกลไกสร้างความทรงจำ ดังนั้นประสบการณ์จึงสร้างความทรงจำในทางใดทางหนึ่งแก่ผู้เรียนซึ่งเขาสามารถใช้มันเพื่อการเรียนรู้อื่นต่อไป

  • อารมณ์มีอิทธิพลต่อความคิดมากกว่าความคิดต่ออารมณ์ อารมณ์ด้านบวกเช่นความสุขส่งผลดีต่อการเรียนรู้

  • การศึกษาควรจัดให้เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่เพื่อได้ทำ

  • อธิบายนักเรียนด้วยภาพ แทนการยกหลักการขึ้นมาพูดลอยๆ

  • ประสบการณ์จริงที่ให้ผู้เรียนได้สัมผัสทุกด้านคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด ยิ่งถ้าเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและเหนือความคาดหมายก็จะยิ่งเป็นที่จดจำได้มากเท่านั้น

  • อย่าให้ผู้เรียนต้องเค้นสมองไปกับการนั่งจำบางอย่างมากเกินไป รับข้อมูลแล้วให้เข้าใจเป็นอย่างๆ

  • กระตุ้นให้ผู้เรียนมีปฏิกิริยาร่วมในชั้นเรียนเสมอ สร้างบรรยากาศให้นักเรียนรู้สึกปลอดภัยเมื่อทำผิด

4. การเรียนรู้จากโหมดตรงกันข้าม ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้

อะไรขับเคลื่อนวงจรการเรียนรู้ของคนเราให้ดำเนินไป? และ อะไรผลักดันให้เราเรียนรู้? คำตอบของคำถามนี้อยู่ที่การเรียนรู้ด้วยโหมดขั้วตรงข้ามซึ่งอยู่ในวงจรการเรียนรู้ (The Dialectic Poles of the Cycle) นั่นเอง

การมีประสบการณ์ตรง (concrete experience) กับ การสรุปความคิดในใจ (abstract thinking) คือสองวิธีพื้นฐานที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน ซึ่งมนุษย์ใช้สองขั้วตรงข้ามนี้ในการทำความเข้าใจประสบการณ์ วิลเลียม เจมส์ เรียกแทนสองขั้วนี้ว่า ‘percepts & concepts’ กล่าวคือ perception เป็นการรับรู้ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ส่วน conception เป็นความคิดที่ย้อนระลึกถึงประสบการณ์ในอดีตและสิ่งที่จะเกิดในอนาคต เปรียบสองสิ่งนี้เป็นใบมีดของกรรไกรที่เวลาใช้งานจะขาดใบมีดข้างใดข้างหนึ่งไปไม่ได้ เช่นเดียวกับที่เราต้องใช้ทั้ง ‘ประสบการณ์’ และ ‘ความคิด’ ในการทำความเข้าใจโลกรอบตัว

การใคร่ครวญ (reflecting) และ การลงมือทำ (acting) ก็เช่นเดียวกัน สองโหมดนี้ต่างก็เป็นกระบวนการที่ใช้เรียนรู้และทำความเข้าใจ เปาโล เฟรรี (Paulo Freire) นักการศึกษาคนสำคัญของโลกยืนยันว่าการที่บุคคลเล่าถึงประสบการณ์ว่าตนทำอะไรมาบ้าง (practice) นั้นสำคัญมาก เพราะจะได้ใช้กระบวนการทำความเข้าใจด้วยขั้วตรงข้ามระหว่าง ‘ความคิดใคร่ครวญ’ กับ ‘การลงมือทำ’ นั่นเอง

อย่างไรก็ตามถ้าใช้ขั้วใดขั้วหนึ่งมากเกินไป เช่น action มากไป เอาแต่ลงมือทำอย่างเดียวโดยไม่มีการฉุกคิดไตร่ตรองในสิ่งที่ทำ หรือ reflection มากไป เอาแต่คิดใคร่ครวญโดยไม่ลงมือทำสักที ความเข้าใจก็จะไม่เกิด

การทำความเข้าใจด้วยโหมดการเรียนรู้ขั้วตรงข้ามที่กล่าวมานี้ ช่วยให้ความคิดอ่านของเรามีลักษณะแบบ ‘เสียงสเตอริโอ’ คือเสียงที่ดังออกมาแยกจากกัน ซึ่งเสียงต่างขั้วเหล่านั้นเองที่ผลักดันให้เราเกิดการเรียนรู้ และถ้าขั้วใดทำงานมากเกินไปก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ การมุ่งเน้นกิจกรรมจนเกินไปหรือมัวแต่ขบคิดใคร่ครวญล้วนไม่ก่อประโยชน์ในการเรียนรู้ ความเชื่อบางอย่างแบบดันทุรังก็สามารถขัดขวางการเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ของเราได้เช่นกัน เช่นเดียวกับที่ความหมกมุ่นอยู่แต่กับประสบการณ์ก็อาจทำให้ความคิดไม่กระจ่างชัดมากพอ

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่เข้มข้นสั่นสะเทือนระดับ ‘ช็อกจนตาค้าง’ (shock and awe) สามารถกระตุ้นให้บุคคลทบทวนความคิดความเชื่อเสียใหม่ ซึ่งส่งผลต่อการรับประสบการณ์ครั้งต่อๆไป การคิดใคร่ครวญสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากลงมือทำก็จะช่วยแก้ไขสิ่งผิดและปรับปรุงสิ่งที่จะลงมือทำในอนาคตให้ดีขึ้นได้ แต่ในทางกลับกันการลงมือพร้อมกับคิดใคร่ครวญไปด้วยกลับไม่ก่อให้เกิดผลดี

ภาพที่ 4 แผนผังแสดงการเรียนรู้ด้วยโหมดขั้วตรงข้ามที่อยู่ในวงจรการเรียนรู้

Tip สำหรับครู: ออกแบบการเรียนรู้โดยให้นักเรียนได้ใช้โหมดการเรียนรู้ต่างขั้วกัน เช่น ให้มีช่วงที่ผู้เรียนได้คิดทบทวนความเข้าใจอย่างเป็นระบบ คิดวิเคราะห์ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม กิจกรรมที่กระตุ้นความอยากรู้และสอดแทรกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าสามารถกระตุ้นการเรียนรู้ได้ดี พยายามหลีกเลี่ยงการเรียนการสอนที่เน้นโหมดการเรียนรู้แบบเดียว เช่น บรรยายอย่างเดียวหรือ ทำกิจกรรมอย่างเดียวโดยไม่ตั้งคำถามหรือละเลยให้ผู้เรียนตั้งเป้าการเรียนรู้

5. ผู้เรียนมีสไตล์การเรียนรู้หลากหลาย และเปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ

แต่ละคนมี ‘สไตล์การเรียนรู้’ แตกต่างกัน แต่ละคนเรียนรู้ด้วยวิธีที่ไม่เหมือนกัน เมื่อผู้เรียนเข้าใจว่าตนเองมีวิธีการเรียนรู้อย่างไร ครูหรือผู้จัดการเรียนรู้ก็จะสามารถจัดการเรียนการสอนหรือประสบการณ์ให้เหมาะสมได้

สไตล์การเรียนรู้ใน ELT หมายถึงจริตของผู้เรียนที่ชอบเรียนรู้ด้วยกระบวนการข้างใดข้างหนึ่งของวงจรการเรียนรู้ (ข้างแรกคือ action and reflection กับอีกข้างคือ experience กับ thinking) สไตล์การเรียนรู้ของแต่ละคนถือเป็นนิสัยการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมักใช้โหมดหนึ่งโหมดใดหรือหลายโหมดซ้ำๆ ในการเรียนรู้เป็นประจำ หากมองเช่นนี้จะเข้าใจได้ว่าในการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่มีโหมดการเรียนรู้ใดเป็นแบบเดียว (stereotype) ตายตัว

การรู้ว่าตนเองมีสไตล์การเรียนรู้แบบไหนช่วยให้ผู้เรียนปรับการเรียนรู้ของตนให้ยืดหยุ่นกับเนื้อหาความรู้และความยากง่าย โดยสามารถเลือกใช้โหมดความรู้ได้แบบองค์รวมและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

ดร.โคล์บ และภรรยา ดร.เอลิซ โคล์บ (Dr. Alice Kolb) ร่วมกันคิดค้น The Kolb Learning Style Inventory (KLSI) หรือแบบวัดสไตล์การเรียนรู้ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสไตล์การเรียนรู้ของบุคคลถูกกำหนดโดยรูปแบบการเรียนรู้ที่ตนชอบที่สุดรวมกัน แผนผังของสไตล์การเรียนรู้มีหน้าตาเหมือน ‘ว่าว’ (ดูภาพที่ 5) ซึ่งแผนผังรูปว่าวของแต่ละคนก็จะต่างกันเล็กน้อยตามแต่สไตล์ ล่าสุดงานวิจัย KLSI 4.0 ได้ระบุรูปแบบการเรียนรู้เอาไว้ 9 แบบคือ

1) The Initiating Style – เริ่มเรียนรู้ด้วย ‘การลงมือทำ’ (action) ผ่านประสบการณ์หรือสถานการณ์

2) The Experiential Style – เรียนรู้ด้วยการค้นหาความหมาย จากการ ‘เข้าไปมีประสบการณ์อย่างลึกซึ้ง’ (deep involvement in experience)

3) The Imagining Style – เรียนรู้จากการจินตนาการความเป็นไปได้ ด้วยการสังเกต (observing) และถอดบทเรียนจากการร่วมประสบการณ์ (reflecting)

4) The Reflecting Style – เรียนรู้โดยการเชื่อมโยงประสบการณ์กับไอเดีย ผ่านการคิดใคร่ครวญ

5) The Analysing Style – เรียนรู้โดยการขมวดความคิดเป็นโมเดล หรือเป็นระบบ จากการคิดใคร่ครวญ

6) The Thinking Style – เรียนรู้ด้วยการคิดเชิงตรรกะ คิดเป็นเหตุเป็นผล

7) The Deciding Style – ใช้ทฤษฎีหรือหลักการเพื่อตัดสินใจในการหาทางออกและลงมือทำบางอย่าง

8) The Acting Style – มีแรงผลักดันที่จะทำบางอย่างให้บรรลุเป้าหมายโดยการจัดการคน (people) และงาน (tasks)

9) The Balancing Style – ปรับตัวโดยชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียระหว่างการลงมือทำกับการคิดใคร่ครวญ (acting vs reflecting) และ การสัมผัสประสบการณ์กับการคิด (experience vs thinking)

ภาพ 5: สไตล์การเรียนรู้ 9 แบบที่อยู่บนวงจรการเรียนรู้

Tip สำหรับครู: ผู้เรียนแต่ละคนมีสไตล์การเรียนรู้ซึ่งใช้โหมดการเรียนรู้แตกต่างกัน ดังนั้น จึงควรมองวงจรการเรียนรู้ให้เป็นภาพของกระบวนการที่สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ผู้เรียน ผู้เรียนอาจเรียนรู้ด้วยโหมดที่ตนชอบแล้วค่อยๆ ใช้โหมดเรียนรู้แบบอื่นๆ ตามแต่ที่ถนัดโดยครูไม่จำเป็นต้องเข้าไปกะเกณฑ์ชี้นำ

นอกจากนั้น ห้องเรียน ELT ไม่จำเป็นต้องสร้างการเรียนรู้โดยเริ่มจากการสัมผัสประสบการณ์จริงเสมอไป แม้ครูแนว ELT หลายท่านมักใช้การสัมผัสประสบการณ์จริงเป็นขั้นแรกก่อนเสมอ เพราะเชื่อว่าการให้ผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์ร่วมกันก่อน ‘เป็นการนำความรู้เข้ามาในห้องเรียน’ และทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นทั้งสองฝ่ายคือผู้สอนและผู้เรียน โดยโจทย์ปัญหาหรือคำถามที่เกิดขึ้นจากการได้สัมผัสประสบการณ์ช่วยให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและถูกกระตุ้นให้ตั้งคำถาม คิดใคร่ครวญ จนเข้าสู่วงจรการเรียนรู้เต็มรูปแบบ

6. การเรียนรู้แบบครบวงจรช่วยให้เรียนรู้และพัฒนาอย่างยืดหยุ่น

ในกระบวนการเรียนรู้หนึ่งๆ เมื่อเด็กได้เจอกับสไตล์การเรียนรู้ทุกรูปแบบ นั่นคือเขากำลังใช้รูปแบบการเรียนรู้ที่ทรงพลังที่สุด ซึ่งเรียกว่า การเรียนรู้แบบครบวงจร (full cycle learning)

หรือกล่าวว่า การเรียนรู้แบบครบวงจร เป็นความสามารถในการหลอมรวมสไตล์การเรียนรู้ทั้งหมดมาใช้ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปได้อย่างยืดหยุ่น (learning flexibility)

บางคนเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ไปตามสิ่งที่เรียนรู้และสถานการณ์ ตัวอย่างเช่น บางคนอาจจะใช้การเรียนรู้แบบหนึ่งที่โรงเรียน แต่บ้านที่หรือกับเพื่อนใช้อีกแบบ มีงานวิจัยชี้ว่าผู้เรียนบางคนสามารถปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้เป็นไปตามบทบาทหน้าที่ และบางรายงานชี้ว่านักเรียนสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ให้ สอดคล้องกับวิชาต่างๆ อีกด้วย

Tip สำหรับครู: เพื่อให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างยืดหยุ่นขึ้น และสามารถใช้ทุกโหมดการเรียนรู้ในวงจรได้ครบถ้วน เมื่อวางแผนจัดกิจกรรมใดๆ ครูหรือกระบวนกรต้องตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนว่ากิจกรรมนั้นจะกระตุ้นเสริมสไตล์การเรียนรู้แบบไหนเป็นพิเศษและพยายามสับเปลี่ยนหมุนเวียนไปหลายแบบเพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปอย่างยืดหยุ่นขึ้น และสามารถใช้ทุกโหมดการเรียนรู้ในวงจรได้ครบถ้วน

7. ครูมีบทบาทเกื้อหนุนสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียน

การเลือกสไตล์การสอนให้ตรงกับสไตล์การเรียนของผู้เรียนในช่วงแรกเริ่มจำเป็นต้องให้นักเรียนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน แต่การเรียนรู้ในภาพใหญ่ยังไงแล้วพวกเขาต้องเปลี่ยนโหมดการเรียนรู้ไปหลากหลายแบบเพื่อทำความเข้าใจตามเนื้อหา ทักษะ และความถนัดของสไตล์ตนเองอยู่ดี

ELT มีกรอบคิด (framework) สำหรับครูผู้สอน (ดังภาพที่ 6) ให้สามารถนำคอนเซ็ปต์การเรียนรู้แบบ ELT ไปเลือกรูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับสไตล์การเรียนรู้ของผู้เรียน ในกรอบคิดนี้จะอธิบายบทบาทหน้าที่ของผู้สอนไว้ 4 แบบ คือ

ภาพที่ 6 : บทบาทหน้าที่ของครูผู้สอน

1) ผู้แนะแนว (The Facilitator Role) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเองและทบทวนใคร่ครวญ สร้างความสัมพันธ์อันดีและความไว้ใจกับผู้เรียน

2) ผู้เชี่ยวชาญในรายวิชา (The Subject Expert Role) นำพาผู้เรียนจัดระเบียบความคิดและเชื่อมโยงการคิดวิเคราะห์เข้ากับความรู้ในวิชานั้นๆ การถ่ายทอดความรู้มักเป็นการบรรยาย เปิดตำรา

3) ผู้กำหนดมาตรฐาน/ผู้ประเมิน (The Standard-Setter/Evaluator Role) ผู้สอนกระตุ้น เคี่ยวเข็ญ ให้ผู้เรียนใช้ความรู้ได้อย่างเชี่ยวชาญถึงระดับที่ตั้งเป้าหมายไว้ และออกแบบกิจกรรมที่ให้แสดงความรู้และทักษะนั้นเพื่อประเมินผล

4) โค้ช (The Coaching Role) ผลักดันให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะความรู้เพื่อบรรลุให้ถึงเป้าหมาย ช่วยวางแผนการพัฒนา ติดตามพัฒนาการ และให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุง

Tip สำหรับครู: การเลือกบทบาทหน้าที่ในกรอบคิดให้เข้ากับโหมดการเรียนรู้ที่กำลังเกิดขึ้นถือเป็นศิลปะขั้นสูงของผู้สอน ด้วยวิธีใดเราจึงจะช่วยนักเรียนให้พัฒนาการเรียนรู้ได้ดีที่สุด? ควรให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และตัดความสนใจปลีกย่อยที่แทรกเข้ามาไปเลยดีไหม? ให้วิชาเป็นศูนย์กลางโดยถ่ายทอดความรู้เพื่อเน้นการคิดใคร่ครวญเฉพาะเรื่อง หรือเน้นที่การนำความรู้ไปใช้จริงและสร้างแนวทางความคิดดีกว่ากัน? หรือการสอนควรมุ่งให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายของหลักการแล้วค่อยเชื่อมโยงความคิดทีหลัง?

ทางความคิดแล้วผู้สอนอาจตอบตนเองได้อย่างมั่นใจ แต่ในบริบทการเรียนการสอนจริง อาจมีข้อจำกัดที่ทำให้ต้องชั่งน้ำหนักว่าจะโฟกัสไปที่ผู้เรียนหรือเนื้อหามากกว่ากัน และจะโฟกัสที่การลงมือทำหรือการหาความหมายเพื่อทำความเข้าใจ ด้วยเวลาที่จำกัด ความต้องการที่ต่างกันของผู้เรียน และหัวข้อความรู้ในรายวิชาที่ต้องสอนให้ครอบคลุม ซึ่งมีความซับซ้อนของการวัดประเมินมาตรฐานอีกด้วย นอกจากนั้นยังต้องพิจารณาว่าตัวผู้สอนเองก็มีความถนัดในบทบาทของครูที่ต่างกัน และทักษะในการสอนก็เป็นข้อจำกัด

8. ประเมินผลการเรียนรู้แบบองค์รวม และประเมินตามสภาพจริง

ใน ELT ใช้การสอนหลากหลายวิธีและครูผู้สอนเองก็มีหลายบทบาท จึงจำเป็นต้องมีการประเมินที่ซับซ้อนและหลากหลายตามไปด้วย การประเมินต้องสามารถวัดผลรวมของทุกมิติการเรียนรู้ทั้ง จิตพิสัย (affective dimension) ทัศนคติ (perceptual dimension) ความรู้ความเข้าใจ (cognitive dimension) และพฤติกรรม (behavioural dimension) ได้อย่างบูรณาการและเท่าเทียมยุติธรรม

คำว่าประเมินแบบองค์รวม (holistic assessment) หมายถึงการประเมินต้องสามารถวัดประสิทธิภาพการเรียนรู้ทั้งสี่ได้ครบถ้วนสมบูรณ์เป็นภาพใหญ่ และการประเมินตามสภาพจริง (authentic assessment) คือการประเมินต้องสะท้อนว่าผู้เรียนสามารถนำทักษะความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้มากน้อยเพียงใด ทั้งหมดทั้งปวงคือสิ่งที่จะตอบได้ว่าพวกเขาเชื่อมโยงความรู้ที่ได้กับชีวิตตนเองอย่างไร ด้วยการประเมินในสองลักษณะนี้จะก่อให้เกิดคำถามว่า ‘อะไรคือสิ่งที่นักเรียนต้องรู้’ และ ‘ครูจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจประสบการณ์และนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในบริบทชีวิตจริงได้อย่างไร’

ที่มา: Alice Kolb & David Kolb. (2018). Eight important things to know about The Experiential Learning Cycle. the Australian Edicational Leader, pp. 8-14.

(ผู้สอนสามารถเข้าไปทดสอบบทบาทความถนัดได้ที่: )

Tip สำหรับครู: สำหรับครูที่ต้องการไกด์ไลน์ในการจัดทำการวัดประเมิน ลองเข้าไปใช้ the Personal Application Assignment (PAA) ซึ่งเป็นแบบฝึกหัดสำเร็จรูปที่สะท้อนรูปแบบการเรียนรู้และความเข้าใจของผู้เรียน ซึ่งครูสามารถนำไปเป็นการบ้านให้นักเรียนเขียนเรียงความหรือบทความจากประสบการณ์การเรียนรู้ของพวกเขาเพื่อนำมาใช้วัดประเมินได้ (เข้าไปดูได้)

Source: .

http://survey.learningfromexperience.com/
ที่นี่
The Potential