การเรียนรู้ของลูกในวันนี้
Last updated
Last updated
คุณพ่อคุณแม่หลายท่านที่วางแผนการศึกษาให้กับลูก มักจะเอาการศึกษาในยุคที่ตนเองเป็นนักเรียนเมื่อ 25 – 35 ปีก่อน เป็นที่ตั้ง และมักจะเอาข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นกับการเรียนหนังสือของตนเองมาโจทย์ในการวางแผนในการเรียนรู้ให้กับลูก อะไรที่ตนเองขาด หรือไม่ได้รับในอดีต ก็พยายามจะสรรหาสิ่งนั้นมาหยิบยื่นให้กับลูก อะไรที่ตนเองไม่ได้ทำ ก็พยายามที่จะทำให้ลูกได้ทำให้ได้
มีหลายประเด็นที่ คุณพ่อคุณแม่บางท่าน ได้พูดคุยกับผม อาทิเช่น “สมัยก่อน ตนเองไม่ได้เรียนพิเศษ จึงทำให้เสียเปรียบเวลาสอบแข่งขัน หรือสอบเข้าต่างๆ” , “สมัยก่อน ไม่มีโอกาสเข้าเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เลยทำให้เสียโอกาสที่จะได้งานดีๆ” ฯลฯ
ผมไม่ได้แย้งว่า สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่คิดนั้นผิดนะครับ จะว่าไปก็มีแนวคิดในทำนองนี้ก็มีมิติที่ถูกต้องอยู่ไม่ใช่น้อย เพียงแต่ผมอยากจะเสริมสักนิดว่า “มันอาจจะถูกต้องเมื่ออดีตก็ได้ แต่สำหรับอนาคต กรอบความคิดในลักษณะนั้น อาจจะไม่ถูกต้องอีกต่อไปก็ได้” ใจเย็น ๆ ครับ ผมไม่ได้หมายความว่า เด็กในยุคนี้ไม่ต้องสนใจเรียนอีกต่อไปแล้วนะครับ เพียงแต่ผมเชื่อว่านิยามของคำว่า “สนใจเรียน” มันเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และนับวันการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงไปเพิ่มมากขึ้น
การศึกษาในยุค 25 – 35 ปีก่อน การศึกษานั้นทำหน้าที่เป็นกลไกในการคัดเลือกคน มากกว่าการเป็นกลไกในการพัฒนาคนครับ ยุคนั้นคนที่เป็นพ่อเป็นแม่ คือ Baby Boomer ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลูกประมาณ 2 – 4 คน (มีน้อยมากนะครับที่จะมีลูกคนเดียว) ยุคนั้นเป็นยุคที่การสอบแข่งขันเข้าเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีอัตราแข่งขันสูงมากๆ ในโรงเรียนชื่อดัง ห้องเรียนหนึ่ง จะมีนักเรียนราวๆ 50 – 60 คน จำนวนเด็กที่ยุคนั้น ซึ่งก็คือ Gen X ในวันนี้ ถือว่าเป็นประชากรที่มีจำนวนมากพอสมควรเลยนะครับ เอาว่าขึ้นรถเมล์นี่จะเจอกับเด็กๆ เยอะมาก
ที่บอกว่าในยุคนั้น การศึกษาเป็นกลไกในการคัดเลือกคน ก็เพราะว่า ในช่วงเวลานั้น ประเทศไทยมีการส่งเสริมให้บริษัทเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ทำให้บริษัทต่างๆ ต้องการแรงงานคน และแรงงานมีฝีมือ ต้องยอมรับครับว่า การศึกษาในสมัยนั้นไม่ได้มีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะของคนให้สามารถเข้าไปทำงานให้อุตสาหกรรม และธุรกิจต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนักหรอกครับ แต่การศึกษา วุฒิการศึกษา และการจบจากสถาบันไหน สาขาวิชาอะไร จึงเป็นตัวชี้วัดที่ดีที่สุด สำหรับบริษัทต่างๆ ในการคัดเลือกคน ดังนั้นในยุคนั้น การได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง สามารถสอบเข้าเรียนในคณะที่มีการแข่งขันสูง จึงเป็นตัวชี้วัดในการบ่งชึ้ถึงศักยภาพของคนๆ นั้นได้ดีมาก
ซึ่งบริษัทต่างๆ ก็จะคัดเลือกคนเหล่านั้น เพื่อเอาไปพัฒนาทักษะต่อเอาเอง เพื่อให้คนๆ นั้น มีความสามารถในการทำงานให้กับบริษัทของตน ยอมรับนะครับว่า ในยุคก่อน ใครที่ได้เรียนในคณะที่มีการแย่งกันเข้าเรียน ได้เรียนกับสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ก็จะมีโอกาสในการทำงานดีกว่าคนอื่น (อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซนต์ แต่ก็ถือว่ามีความได้เปรียบอยู่แน่ๆ) สมัยก่อนมันยากมากๆ นะครับ ที่จะรู้ว่าใครเป็นคนที่เก่ง ใครเป็นคนที่มีศักยภาพ ก็ต้องดูจากวุฒิการศึกษา คณะ และสถาบันที่เรียนจบมานี่ล่ะครับ แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่พัฒนาไปมาก คนทุกคนมีช่องทางในการนำเสนอผลงานของตนเอง รวมทั้งทำให้คนอื่นรับรู้ได้ว่าตนเองมีทักษะอะไร มีความสามารถด้านไหน ได้ง่ายกว่าแต่ก่อนมาก
การศึกษาในปัจจุบัน จึงได้ลดทอนการเป็นเครื่องมือในการคัดเลือกคนลงมากว่าแต่ก่อน (แต่ก็ยังไม่หมดไปนะครับ) และได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งพัฒนา “ทักษะการเรียนรู้ขั้นพื้นฐาน” ให้กับเด็กๆ แทน
การศึกษาที่ดี จะทำให้เด็กมีความรู้พื้นฐานในการฝึกฝนตนเอง หรือค้นหาความรู้ด้วยตนเองได้
การศึกษาที่ดี จะทำให้เด็กสามารถเชื่อมต่อกับประชาคมวิชาชีพ (Community of Practice) เพื่อให้ตนเองมีความรู้ และทักษะที่เพียงพอต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับกลุ่มคนที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกันที่มีอยู่ทั่วโลก
การศึกษาที่ดี จะทำให้ตนเอง สามารถเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับงานที่ตนเองสนใจ และเมื่อเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนแปลงไป ตนเองก็สามารถที่จะเรียนรู้ และปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นได้ เพื่อให้ตนเองยังคง Update ในเรื่องที่ตนเองสนใจได้อย่างต่อเนื่อง
การศึกษาที่ดี จะเปิดโอกาสให้ตนเองได้เรียนรู้ที่จะได้ทำงานกับคนอื่นๆ ได้ฝึกการบริหารโครงการ การทำงานร่วมกันกับคนอื่นๆ การวิเคราะห์ข้อมูล การตัดสินใจ การนำเสนอ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ
การศึกษาที่ดีเหล่านี้ จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ เด็กๆ ได้ถูกส่งเสริมให้มี “ความพยายามในการเรียนรู้” “การฝึกฝน ค้นคว้าด้วยตนเอง” และ “การมีโอกาสได้ใช้ความรู้ในการผลิตผลงาน” ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถูกเรียกว่า Growth Mindset ซึ่งมันมีความสำคัญมากๆ นะครับ กับการพัฒนาทักษะการทำงาน และทักษะชีวิต สำหรับการประกอบอาชีพ และการแข่งขันในอนาคต เมื่อเขาเติบโตขึ้น
กลับมาที่การเรียนหนังสือ ผมไม่ได้ปฏิเสธนะครับว่า การที่มีผลการเรียนที่ดี การได้เรียนในสถาบันการศึกษาที่ชื่อเสียง นั้นยังคงมีความได้เปรียบในทางสังคมอยู่ แต่หากผลการเรียนที่ดีนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจาก “ความพยายาม” ของเด็กเลย Growth Mindset ก็จะไม่เกิดขึ้นครับ
ผมได้ติดตามเด็กที่มีผลการเรียนดีอยู่หลายๆ คน (ทุกคนที่ผมติดตามมีประวัติการเรียนกวดวิชา หรือเรียนพิเศษทุกคน) ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.1 จนปัจจุบันเด็กเหล่านั้นได้เรียนอยู่ในระดับชั้น ม.1 ซึ่งปัจจุบันพบว่า เด็กบางคนเริ่มมีผลการเรียนที่ถดถอยลง และที่น่ากังวลก็คือ มีแนวโน้มที่จะถดถอยลงไปเรื่อยๆ ผมจึงมีข้อสงสัยว่า ก็ในเมื่อเรียนพิเศษกันทุกคน แล้วทำไมบางคนจึงมีผลการเรียนที่ตกลง นั่นแสดงว่า การเรียนพิเศษ หรือการเรียนกวดวิชา นั้นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น แต่มันต้องมีปัจจัยอื่นที่มีอิทธิพลมากกว่านั้น ที่ส่งผลต่อผลการเรียนของเด็ก ซึ่งผมพบว่า เด็กแต่ละคนมีพฤติกรรม และความคาดหวังต่อการเรียนพิเศษ ที่ไม่เหมือนกัน
เด็กที่ยังคงมีผลการเรียนที่ดีอยู่ มีมุมมองต่อการเรียนพิเศษ คือ การที่ตนเองจะได้ไปเจอกับโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ที่ตนเองจะได้นำเอาโจทย์เหล่านั้น มาฝึกฝนด้วยตนเองต่อไป ซึ่งเด็กที่มีมุมมองความคิดแบบนี้ หลายคนไม่ได้เรียนพิเศษอะไรมากมาย บางคนเลิกเรียนพิเศษไปแล้วก็มี แต่ก็ยังขวนขวายหาโจทย์มาฝึกทำ หาหนังสือมาอ่านเพิ่มเติมด้วยตนเองอยู่ดี
ในขณะที่ เด็กที่มีผลการเรียนที่ตกลง มักจะไม่ค่อยฝึกฝนด้วยตนเอง มุ่งหวังที่จะพึ่งพาโรงเรียนกวดวิชา ในการเก็งข้อสอบ หรือแนะแนววิธีการในการทำข้อสอบให้
ผมจึงสรุปคร่าวๆ ได้ว่า ความพยายาม และการฝึกฝนด้วยตนเอง อย่างมีวินัย สม่ำเสมอ ด้วยความสมัครใจ นั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญมากๆ ต่อผลการเรียน สำหรับการเรียนกวดวิชา หรือเรียนพิเศษ นั้นเป็นส่วนเสริม ในฐานะที่เป็นฝ่ายสนับสนุนด้านทรัพยากรเสียมากกว่า
อีกพฤติกรรมหนึ่ง ที่ผมสังเกตได้ จากเด็กที่ยังคงมีผลการเรียนที่ดีอยู่ นั่นก็คือ เด็กเหล่านี้จะมีความรับผิดชอบในงานที่ครูมอบหมายให้ทำ สามารถแบ่งเวลาในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำงานส่งครูได้ตามกำหนดด้วยตนเอง ในขณะเด็กที่มีผลการเรียนที่ตกลง จำนวนไม่น้อย มักจะมีพฤติกรรมที่ต้องให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยทำงาน หรือทำรายงานส่งครู โดยที่ตนเองจะได้เอาเวลาไปติว เพื่อให้ได้รับผลการเรียนที่ดีเป็นหลัก
ดังนั้น ประเด็นสำคัญที่ผมจะสรุปกับคุณพ่อคุณแม่ ก็คือ ผมไม่โต้เถียงว่า การเรียนพิเศษ หรือการเรียนกวดวิชา นั้นได้ประโยชน์หรือไม่ ผมเชื่อว่าประโยชน์น่าจะมีอยู่แล้ว แต่ประโยชน์ของมันจะลดทอนลง หากนักเรียนหวังที่จะพึ่งแต่การกวดวิชา โดยที่ไม่ได้มีความพยายามที่จะฝึกฝนด้วยตนเองเลย ในขณะเดียวกัน การเรียนกวดวิชา ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น ที่ไม่สามารถทดแทนได้ หากนักเรียนสามารถขวนขวายหาแบบฝึกหัดที่เหมาะสม มาฝึกฝนทำด้วยตนเอง นักเรียนที่แม้ว่าจะไม่ได้เรียนพิเศษ ก็สามารถที่จะมีผลการเรียนที่ดีได้
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่ลูกยังอยู่ในระดับอนุบาล และประถมศึกษา การปลูกฝังให้ลูกเห็นคุณค่าในความพยายาม รักในการฝึกฝนตนเองอย่างมีวินัย และสม่ำเสมอ ชอบที่จะค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง มีความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมายด้วยตนเอง นั้นมีความสำคัญอย่างมากนะครับ เพราะจากงานวิจัยพบว่า นิสัยความพยายาม และการมีมานะอุตสาหะเหล่านี้ จะส่งผลต่อการเรียนอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อนักเรียนอยู่ในระดับชั้นไม่สูงนัก ตั้งแต่ระดับอนุบาล ไปจนถึงมัธยมศึกษา แถมยังส่งผลในระยะยาว และมีแนวโน้มที่จะยั่งยืนอีกด้วยครับ (https://bit.ly/2TpWz7a, https://bit.ly/2OOu0l9, https://bit.ly/2YPJrhL) แต่ถ้าละเลย และปล่อยให้เด็กเรียนรู้ผ่านการพึ่งพึงปัจจัยอื่นเป็นหลัก โดยที่ตนเองไม่ได้พยายามอะไรมากนัก ไม่ได้มีวินัยในการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ หากเรียนอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ต่อให้มีความพยายามอย่างไร ตั้งใจแค่ไหน ก็แทบจะไม่ส่งผลต่อการเรียนเลย หรือหากส่งผลก็ได้อยู่ในระดับที่มากมายอะไร และเป็นการส่งผลที่ไม่มีความยั่งยืนในระยะยาวด้วย (https://bit.ly/2MbtxHL, https://bit.ly/2KvtoNh) นั่นเป็นเพราะว่า ความไม่เข้าใจต่างๆ ได้สะสมมาเป็นระยะเวลานาน จนความพยายามที่เพิ่งจะเกิดขึ้น ไม่อาจที่จะเอาชนะได้
ดังนั้น การเรียนพิเศษหรือไม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่สำคัญเท่ากับ การปลูกฝังให้ลูกมีความพยายาม รักที่จะฝึกฝน ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง อย่างสม่ำเสมอ และมีวินัย ผมยืนยันตรงนี้ครับ
นอกจากนี้ จากข้อมูลของ World Economic Forum อ้างอิงจากรายงานของ McKinsey Global Institute (https://bit.ly/2M8y3mX) ได้ระบุว่า จากปัจจุบันจนถึงปี 2030 อิทธิพลของ AI และนวัตกรรมอัตโนมัติต่างๆ จะส่งผลต่อการประกอบอาชีพเป็นอย่างมาก หลายคนอาจจะคิดว่า ในอนาคตด้วยอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้ประชากรในวัยหนุ่มสาว ในอนาคต ก็จะมีจำนวนลดลงตามไปด้วย สถานการณ์การทำงาน และการประกอบอาชีพ ไม่น่าจะต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันเหมือนกับคนใน Gen X และ Gen Y แต่นั่นไม่ใช่เลยครับ เพราะว่าในอนาคต ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบ Internet และการสื่อสาร และระบบอัตโนมัติ (Automation) ที่พัฒนาขึ้น ความจำเป็นในการใช้แรงงานคน โดยเฉพาะงาน Routine จะลดลงเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าลดลงในอัตราที่มากกว่า การลดลงของประชากรในวัยหนุ่มสาวเสียอีกครับ ผมเชื่อว่าในอนาคต ที่จำนวนประชากรน้อยลงกว่าในปัจจุบันมาก ยังอาจจะมากเกินไปด้วยซ้ำ หากเทียบกับความจำเป็นในการจ้างงาน ในอนาคต
ดังนั้น คนที่จะมีความสำเร็จในการประกอบอาชีพ จำเป็นต้องมีทักษะบางอย่าง ที่โดดเด่น และแตกต่างไปจากปัจจุบัน โดย McKinsey Global Institute ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ในอนาคตก่อนปี 2030 ทักษะการทำงานทางกายภาพ (Physical and manual skills) และทักษะการคิดวิเคราะห์ขั้นพื้นฐาน (Basic cognitive skills) จะมีความจำเป็นน้อยลง เพราะจะถูก AI และหุ่นยนต์ ทดแทนไปเรื่อยๆ ในขณะที่ทักษะจำพวก ทักษะการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง (Higher cognitive skills) ทักษะสังคมและอารมณ์ (Social and emotional skills) และทักษะการใช้งานเทคโนโลยี (Technological skills) จะทวีความสำคัญขึ้นอย่างมาก
ผมเชื่อว่า การเรียนรู้ในยุคนี้ นอกจากการเรียนหนังสือ ด้วยความพยายาม และการฝึกฝนด้วยตนเองแล้ว ผมเชื่อว่า การมีโอกาสได้ทำงานกลุ่ม หรือทำโครงงานร่วมกับเพื่อนๆ หรือคนอื่นๆ จะทำให้เด็กพัฒนาทักษะทางสังคม และอารมณ์ได้เป็นอย่างดี และหากมีโอกาสไปเพิ่มพูนประสบการณ์กับประชาคมวิชาชีพ ในเรื่องที่ตนเองสนใจ ผ่านกิจกรรมชมรม การเข้าร่วมสัมมนา และการทำกิจกรรมร่วมกับสมาคมที่ตนเองสนใจ จะสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ ทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์ชั้นสูง ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และความเป็นผู้ใหญ่ได้ดีมากๆ
สำหรับทักษะทางด้านเทคโนโลยี ผมไม่ได้จำกัดการพัฒนาทักษะนี้ ไว้เฉพาะแค่การเรียนคอมพิวเตอร์ หรือการเขียนโปรแกรม หรือโค้ดดิ้ง (Coding) อย่างที่กำลังฮิตกันเท่านั้นนะครับ แต่เจ้าทักษะทางด้านเทคโนโลยีนี้ หมายถึง เทคโนโลยี ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตนเองสนใจ เด็กจะต้องพัฒนาตนเองให้สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆ เช่น อาจจะเป็นการเขียนโปรแกรม หรือการใช้ Application ต่างๆ หรือการใช้เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในการค้นคว้า หรือช่วยทำงานในสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยเมื่อในอนาคตหากโปรแกรมต่างๆ ที่เคยใช้มีการพัฒนาเปลี่ยนเวอร์ชั่น หรือมีโปรแกรมอื่น หรือเครื่องมืออื่น ที่ทันสมัยกว่า มีประสิทธิภาพกว่า ตนเองก็ต้องมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ และใช้งานโปรแกรม หรือเครื่องมือใหม่ๆ เหล่านั้น โดยไม่อิดออด
ผมว่าที่ผ่านมาเราพัฒนาทักษะทางด้านเทคโนโลยี ให้กับเด็กแบบผิดทาง เพราะระบบการศึกษาไทย พยายามที่จะฝึกทักษะการใช้งานเทคโนโลยี ณ ขณะนั้นให้กับเด็ก โดยที่ไม่ได้ปลูกฝังทัศนคติที่พร้อมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้กับเด็กเลย พอสอนเด็กเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยภาษาใดภาษาหนึ่ง หรือสอนให้เด็กใช้งานโปรแกรมใดโปรแกรมหนนึ่ง เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อภาษาคอมพิวเตอร์ และโปรแกรมเหล่านั้นล้าสมัย ทักษะที่เด็กเคยมี ก็กลายเป็นสิ่งที่แทบจะไร้ประโยชน์
ดังนั้น ทักษะทางด้านเทคโนโลยี ในมุมมองของผม คุณพ่อคุณแม่ต้องพยายามสอนให้ลูกเข้าใจว่า ณ เวลาใดๆ ที่เรากำลังเรียนรู้ในเรื่องที่เราสนใจ เราต้องรู้ว่าเทคโนโลยีอะไร ที่จะทำให้เราเรียนรู้เรื่องนั้นได้อย่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น งานที่เราได้รับมอบหมาย ต้องใช้โปรแกรม หรือเทคโนโลยีอะไรช่วย ถึงจะทำให้เราสามารถทำงานนั้นได้อย่างมีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น เราก็ต้องพยายามเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างต่อเนื่อง อะไรที่ควรต้องทำเป็น แต่ยังทำไม่เป็น ก็ต้องหาทางที่จะทำให้ตัวเองทำเป็นให้ได้ นี่คือ หัวใจสำคัญของทักษะนี้เลยครับ
ผมคิดว่าการศึกษาในปัจจุบัน และในอนาคต มันมีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ แม้ว่าในบริบทของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนกับประเทศอื่นๆ แต่การเปลี่ยนแปลงที่ว่ามันต้องเกิดขึ้น อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เมืออนาคตมันเปลี่ยนไปจากเดิม เราจะเอากรอบในการเรียนหนังสือแบบเดิมๆ มาใช้กับลูกไม่ได้ครับ การติว การกวดวิชา หากอยากทำก็ทำได้ครับ ผมไม่ได้คัดค้าน เพราะหลายๆ ประเทศในแถบเอเซียตะวันออก ซึ่งหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย ค่านิยมการเรียนกวดวิชา ก็ยังมีความเข้มข้นอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตาม การพัฒนาให้ลูกเห็นคุณค่าของความพยายาม มีนิสัยรักการฝึกฝน ค้นคว้าด้วยตนเอง อย่ามีวินัย และสม่ำเสมอ เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ในขณะเดียวกัน การพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันกับคนอื่น และการพัฒนาตนเองให้สามารถใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ได้อย่าง Update ไปเรื่อยๆ รวมทั้งการทำให้ตนเองมี “ทักษะ” ไม่ใช่มีเพียง “ใบกระดาษจากสถาบันนั้นโน้นนี้” น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่าครับ
อย่าว่าแต่ประเทศไทยเลยครับ แม้แต่ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัทที่วางแผนพัฒนาแรงงานมีฝีมือ เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในปี 2030 ยังมีค่าประมาณ 2% เท่านั้นเอง (https://bit.ly/2H3dtU0) และประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกหลายๆ ประเทศ ก็ดูเหมือนจะดูเบาในเรื่องดังกล่าวนี้ ดังนั้นจะว่าไป มันก็เป็นการ Reset การแข่งขันทางด้านทรัพยากรบุคคลของประเทศต่างๆ ในโลกนี้เหมือนกันนะครับเนี่ย นั่นหมายความว่า หากคุณพ่อคุณแม่สามารถเตรียมความพร้อมให้กับลูกของตนเอง ให้มีทักษะ และ Mindset ที่พร้อมที่จะรับมือกับโลกอนาคต เมื่อลูกของคุณพ่อคุณแม่เติบโตขึ้น เขาก็จะสามารถเติบโตเป็นพลเมืองโลก ที่พร้อมแข่งขัน หรือร่วมมือกับใครก็ได้ทั่วโลก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นได้ คุณพ่อคุณแม่ ก็คงไม่มีอะไรต้องห่วงอีกต่อไปแล้ว อย่างแน่นอนครับ
Ref : FB : EducationFacet