ตอนที่ 13 – ยุคแห่งความไม่รู้
Last updated
Last updated
ซีรี่ส์ Sapiens ดำเนินมาได้เกินครึ่งทางแล้ว เลยขอวางหมุดหมายให้เห็นคร่าวๆ กันอีกครั้งนึงนะครับ
200,000 ปีที่แล้ว – Homo Sapiens ถือกำเนิดในแอฟริกาตะวันออก
70,000 ปีที่แล้ว – เกิด Cognitive Revolution ในหมู่ Sapiens จนสามารถใช้ภาษาและออกเดินทางจากแอฟริกาไปยังดินแดนอื่นๆ ทั่วโลก
12,000 ปีที่แล้ว – เกิดการปฏิวัติเกษตรกรรม (Agricultural Revolution) ทำให้คนที่เคยเข้าป่าล่าสัตว์เริ่มออกมาตั้งรกรากและขยายถิ่นที่อยู่จากหมู่บ้านเป็นเมือง จากเมืองเป็นอาณาจักร จากอาณาจักรเป็นจักรวรรดิ
2500 ปีที่แล้ว – กำเนิดศาสนาพุทธ
2000 ปีที่แล้ว – กำเนิดศาสนาคริสต์
1400 ปีที่แล้ว – กำเนิดศาสนาอิสลาม
500 ปีที่แล้ว – ปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Revolution) มนุษยชาติเริ่มยอมรับว่าตัวเองไม่รู้และได้มาซึ่งอำนาจที่ไม่เคยมีมาก่อน
200 ปีที่แล้ว – ปฏิวัติอุตสาหกรรม (Industrial Revolution) ครอบครัวและชุมชนถูกแทนที่ด้วยรัฐและตลาด
หากชาวนาชาวสเปนคนหนึ่งหลับไปในปีค.ศ.1000 และตื่นขึ้นมา 500 ปีให้หลัง (ช่วงเดียวกับที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา) โลกอาจจะดูแตกต่างไปบ้างแต่เขาก็คงไม่รู้สึกแปลกแยกเสียทีเดียว แต่หากลูกเรือของโคลัมบัสหลับไหลในปี 1500 และตื่นขึ้นในปี 2000 สิ่งที่ลูกเรือคนนั้นพบเจออาจทำให้เขาคิดว่าตัวเองกำลังอยู่บนสวรรค์ – เอ…หรือว่าในนรกกันแน่?
500 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมาย จำนวนประชากรโตขึ้น 14 เท่า (จาก 500 ล้านเป็น 7,000 ล้าน) ขณะที่พลังงานที่มนุษย์บริโภคเพิ่มขึ้น 115 เท่า และผลผลิตต่อคนเพิ่มขึ้นถึง 240 เท่า
ในปี 1500 (รวมถึง 4 พันล้านปีก่อนหน้านั้น) ไม่เคยมีมนุษย์หรือสัตว์ตัวไหนออกไปพ้นชั้นบรรยากาศโลก แต่วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 มนุษย์ก็ได้ไปเหยียบดวงจันทร์
ก่อนหน้าปี 1674 เราไม่เคยรู้เลยว่ามีสิ่งมีชีวิตจำพวกหนึ่งที่มีจำนวนประชากรคิดเป็น 99.99% ของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ นั่นคือ microorganism หรือจุลินทรีย์และแบคทีเรียต่างๆ จนนักวิทยาศาสตร์ชาวดัทช์ค้นนึงได้ลองใช้จุลทรรศน์ที่เขาทำขึ้นเองส่งดูหยดน้ำ
และวินาทีประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา คือเวลา 05:29:45 ของเช้าวันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม 1945 เมื่อนักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกันจุดระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกในเมือง Alamogordo รัฐ New Mexico
นี่คือครั้งแรกที่มนุษย์ไม่เพียงมีพลังพอที่จะเปลี่ยนทิศทางของประวัติศาสตร์ แต่สามารถทำให้ประวัติศาสตร์สูญสิ้นได้ด้วยมือตนเอง
เมื่อเรายอมรับว่าเราไม่รู้
กระบวนการที่ช่วยให้เราสร้างระเบิดนิวเคลียร์และพาเราไปเหยียบดวงจันทร์คือการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 500 ปีที่แล้ว
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าช่วงก่อนคริสตศตวรรษที่ 15 นั้น มนุษย์ไม่ได้มีแรงผลักดันที่จะค้นคว้าหรือค้นพบอะไรใหม่ๆ เพราะมนุษย์เชื่อว่าคำตอบทั้งหมดนั้นอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคำสอนของพุทธ คริสต์ อิสลามหรือขงจื๊อต่างก็บอกว่าสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องรู้นั้นท่านได้บอกไว้หมดแล้ว
ศาสนาเก่าแก่นั้นยอมรับ “ความไม่รู้” (ignorance) อยู่แค่สองแบบ แบบแรกคือ “คนคนหนึ่งอาจจะไม่รู้สิ่งที่จำเป็นต้องรู้” เช่นหากชาวนาคนหนึ่งไม่รู้ว่ามนุษย์กำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร เขาเพียงแค่ต้องไปถามคนที่รู้อย่างนักบวชในโบสถ์ใกล้บ้านก็เพียงพอแล้ว
ความไม่รู้อีกแบบหนึ่งก็คือ “ไม่รู้เพราะไม่สำคัญ” เช่นในไบเบิ้ลอาจไม่ได้บอกว่าแมงมุมชักใยยังไง แต่นั่นไม่ได้แปลว่าคำสอนของศาสนาคริสต์ไม่สมบูรณ์ แต่เป็นเพราะเรื่องการชักใยของแมงมุมไม่ใช่เรื่องสำคัญต่างหาก เพราะถ้าการชักใยแมงมุมมันสำคัญจริงพระเจ้าย่อมต้องพูดถึงในพระคัมภีร์อยู่แล้ว
นักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่มองความไม่รู้ต่างออกไป พวกเขามองว่า “พวกเรายังไม่รู้สิ่งที่เราจำเป็นต้องรู้” (collective ignorance of the most important questions) ดาร์วินไม่เคยบอกว่าตัวเองรู้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องวิวัฒนาการทั้งหมด นักฟิสิกส์ก็ยอมรับว่ายังไม่รู้ว่า Big Bang เกิดขึ้นได้อย่างไร
โดยแท้จริงแล้ว Scientific Revolution คือ “การปฏิวัติของความไม่รู้” (revolution of ignorance) เมื่อมนุษย์ยอมรับว่าตัวเองไม่ได้มีคำตอบสำหรับคำถามที่สำคัญ พวกเขาจึงเริ่มหิวกระหายที่จะค้นคว้าและออกค้นหาอีกครั้ง
ความรู้คืออำนาจ
ในปีค.ศ. 1620 Francis Bacon ตีพิมพ์แถลงการณ์ชื่่อวา The New Instrument โดยบอกว่าความรู้คืออำนาจ – Knowledge is Power
โดยนายเบคอนบอกว่า ความรู้นั้นจะมีประโยชน์หรือไม่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามันถูกต้องแค่ไหน แต่มันมีประโยชน์แค่ไหนต่างหาก (เพราะไม่มีชุดความรู้ใดที่จะถูกต้อง 100% อยู่แล้ว)
เราคุ้นเคยกับคำว่า วิทยาศาสตร์ และ เทคโนโลยี มานานจนเรานึกว่าสองอย่างนี้ต้องเกิดขึ้นพร้อมกันเสมอ แต่จริงๆ แล้วนายเบคอนนี่แหละที่เป็นคนแรกๆ ที่เอาคอนเซปต์สองอย่างนี้เชื่อมโยงกัน คือเมื่อคุณได้ความรู้ชุดใหม่จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คุณก็สามารถนำมันมาพัฒนาเทคโนโลยีอันจะนำมาซึ่งพลังและอำนาจได้
ในช่วงก่อนปี 1500 นั้น วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคนละเรื่องกันเลย ผู้นำแคว้นต่างๆ อาจจะสนับสนุนสถาบันการศึกษาเพื่อจะช่วยเผยแพร่ความรู้ดั้งเดิม ไม่ใช่เพื่อค้นพบความรู้ชุดใหม่ ส่วนเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ก็ไม่ได้เกิดจากการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์แต่เกิดจากบรรดานายช่างที่ไม่เคยไปโรงเรียนด้วยซ้ำ
สงครามและเทคโนโลยี
หนึ่งในเหตุผลที่วิทยาศาสตร์นำมาซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคือสงครามโลก ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลได้สั่งให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นอาวุธใหม่ๆ และผลลัพธ์ที่ได้คือเครื่องบินรบ แก๊ซพิษ รถถัง เรือดำน้ำ และปืนกลทำลายล้างสูง
วิทยาศาสตร์มีบทบาทมากขึ้นไปอีกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1944 ฝ่ายอักษะอย่างอิตาลีนั้นได้ยอมแพ้ต่อกลุ่มสัมพันธมิตรแล้ว แต่เยอรมันนีก็ยังสู้ต่อเพราะเชื่อว่าขีปนาวุธตัวใหม่นาม V-2 ที่นาซีคิดค้นอยู่จะพลิกเกมได้
ในปี 1945 อเมริกาประดิษฐ์อาวุธนิวเคลียร์สำเร็จ แต่ถึงตอนนั้นเยอรมันนีได้ยอมแพ้สงครามไปแล้วว เหลือเพียงแต่ญี่ปุ่นที่ประกาศว่าจะสู้ยิบตา ในปี 1946 เมื่อรู้ว่าการส่งทหารอเมริกันขึ้นบกที่ญี่ปุ่นจะทำให้สูญเสียกำลังพลนับล้านคน ประธานาธิบดีทรูแมนจึงตัดสินใจใช้ระเบิดนิวเคลียร์ ภายในสองสัปดาห์ระเบิดนิวเคลียร์ถูกทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมาและเมืองนางาซากิ ทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้สงครามอย่างไม่มีเงื่อนไข
การนำเทคโนโลยีมาใช้ในสงครามนั้นถือเป็นเรื่องที่ใหม่มากๆ ก่อนศตวรรษที่ 19 สงครามส่วนใหญ่ตัดสินกันที่การวางแผนและจัดกำลังรบมากกว่าเรื่องความเหนือกว่าทางเทคโนโลยี กองทัพของโรมนั้นไม่ได้มีเครื่องมือที่ดีกว่าอาณาจักรอื่นเลย เพียงแต่มีกำลังพลมากกว่า มีวินัยกว่า และมียุทธศาตร์ที่ดีกว่าเท่านั้นเอง
แม้กระทั่งเมืองจีนก็ไม่ได้มีการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ในสงคราม เทคโนโลยีทางอาวุธที่สำคัญสุดของจีนคือดินปืน แต่เท่าเรารู้ก็คือดินปืนไม่ได้ถูกคิดค้นโดยนักวิทยาศาสตร์ แต่ถูกค้นพบโดยนักเล่นแร่แปรธาตุที่กำลังหาสูตรยาอายุวัฒนะ และแม้ว่าจะพบแล้วว่าดินปืนทำอะไรได้ มันก็ถูกใช้สำหรับการทำดอกไม้ไฟเท่านั้น! ต้องใช้เวลาอีกราว 600 ปีกว่าชาวจีนจะเริ่มเอาดินปืนมาทำเป็นอาวุธปืนใหญ่ในการสงคราม
วิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยีทางการทหารเพิ่งจะมาเกี่ยวพันกันในช่วงที่ระบบทุนนิยมเฟื่องฟูขึ้นมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม
และจากวันนั้นโลกก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ที่มาบทความ :https://anontawong.com