ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
Last updated
Last updated
ตอนนี้เรามาถึงยุคสมัยของ Agricultural Revolution หรือการที่มนุษย์เริ่มปลูกพืชผักแทนการเก็บอาหารป่า และนำสัตว์มาเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารแทนการออกล่า ยุคแห่งการปฏิวัติเกษตรกรรมนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 12,000 ปีที่แล้ว โดยพื้นที่ที่มีการทำเกษตรกรรมครั้งแรกเกิดขึ้นใน Hilly Flanks* ซึ่งอยู่บริเวณริมแม่น้ำไทกริสระหว่างประเทศตุรกีและอิหร่านในปัจจุบัน พืชชนิดแรกๆ ที่มนุษย์นำมาเพาะปลูกคือข้าวสาลี (wheat) การเริ่มทำไร่ไถนาและเลี้ยงสัตว์นี้ทำให้มนุษย์เราสามารถผลิตอาหารได้มากกว่าเดิมหลายเท่า
ในตอนแรกที่เหล่า Sapiens เริ่มค้นพบวิธีการทำไร่ พวกเขาคงคิดว่าอีกหน่อยชีวิตคงสบายแล้ว เพราะจะมีอาหารกินตลอดปี ไม่ต้องมาคอยลุ้นวันต่อวันว่าจะล่าสัตว์ได้มั้ยหรือจะเป็นผู้ถูกล่าเองหรือเปล่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ การหันมาทำไร่ไถนาทำให้คนยุคนี้มีความเป็นอยู่แย่กว่าคนยุคล่าสัตว์เสียอีก!
ชีวิตของคนยุคชาวนาต้องทำงานหนักกว่าคนยุคล่าสัตว์ สมัยที่ต้องล่าสัตว์นั้น แค่ออกไปล่าซักสี่ห้าชั่วโมงก็ได้กลับมาที่เผ่าแล้ว แต่คนยุคชาวนาต้องตากแดดตากลมพรวนดินรดน้ำ ไหนจะต้องคอยระวังวัชพืชและสัตว์อื่นๆ มาทำลายพืชผล
เมื่อมีไร่นาที่ต้องประคบประหงม จึงเกิด “ความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ” ขึ้นมา เริ่มมีการสร้างรั้วล้อมสวน เริ่มมีการทำแนวกั้นรอบหมู่บ้าน เริ่มมีการตั้งการ์ดเพื่อคอยปกป้องไม่ให้คนเผ่าอื่นมาลักลอบอาหารไป การรบกันระหว่างเผ่าเพื่อแย่งชิง “ทรัพยากร” ของเหล่า Sapiens จึงเริ่มมีขึ้นในสมัยนี้
คนยุคชาวนาจะสุขภาพไม่สมบูรณ์เท่าไหร่ เพราะได้กินแต่แป้งตลอดทั้งปี ขณะที่คนยุคล่าสัตว์นั้นได้กินอาหารที่หลากหลายกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นโปรตีนจากสัตว์ที่ล่ามาได้หรือวิตามินที่ได้จากการเก็บผักและผลไม้ในป่า
แหล่งอาหารของชาวนานั้นเปราะบางมาก ถ้าปีไหนสภาพอากาศไม่เป็นใจจนทำให้พืชผักที่ปลูกไว้นั้นไม่ออกดอกออกผล นั่นหมายถึงหายนะและการอดตายของคนทั้งหมู่บ้าน
มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดโรคระบาด เพราะชุมชนชาวนานั้นมีสัตว์เลี้ยง (ซึ่งเป็นพาหะนำโรค) และการลงหลักปักฐานทำให้หมู่บ้านนั้นๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรคชั้นดี
ครับ สิ่งที่เรียกว่า “ความเจริญ” ของสังคมมนุษย์ กลับทำให้คุณภาพชีวิตแต่ละคนย่ำแย่ลง ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ จึงเรียกการปฏิวัติเกษตรกรรมนี้ว่าเป็นการหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (History’s Biggest Fraud) จริงๆ แล้ว “การหลอกลวง” ในลักษณะอย่างนี้ก็มีให้เห็นมาทุกยุคทุกสมัยนะครับ
เมื่อซักสี่สิบปีที่แล้ว ที่เราเริ่มมีคอมพิวเตอร์และหุ่นยนต์ เราก็จินตนาการกันว่าอีกหน่อยมนุษย์เราคงไม่ต้องทำงานกันแล้วเพราะคอมพิวเตอร์จะทำแทนให้หมด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือเราทำงานมากกว่าเดิมเสียอีกเพราะมันตามติดเราไปทุกที่
หรือความเชื่อที่ว่า ให้ตั้งใจเรียน เพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัยดีๆ ออกมาจะได้ไปอยู่บริษัทใหญ่โต จงขยันทำงานเก็บเงิน จะได้เออร์ลี่รีไทร์แล้วได้ทำอะไรที่อยากทำ แต่พอเอาเข้าจริงๆ พอเรามีเงินมากขึ้น ความต้องการของเราก็มากขึ้น เริ่มแบกรับภาระหนักขึ้น ไหนจะต้องส่งลูกเข้าโรงเรียนอินเตอร์ ไหนจะต้องผ่อนบ้านหลังใหญ่ รถสองคัน ฯลฯ ความฝันที่จะได้เออร์ลี่รีไทร์เลยกระเถิบออกไปเรื่อยๆ
“การหลอกลวง” ที่ว่านี้ก็ไม่ได้เกิดจากใครหรอกนะครับ เพียงแต่มนุษย์ไม่สามารถจะมองเห็นอนาคตได้อย่างครบถ้วนว่าการเปลี่ยนแปลงในวันนี้จะส่งผลกระทบอะไรบ้าง ตอนที่คนยุคชาวนาเริ่มหันมาทำไร่ เขาก็คงเชื่อจริงๆ ว่ามันจะทำให้ชีวิตของเขาสบายขึ้น แต่เขาคงลืมคิดไปว่า เมื่อมีอาหารที่อุดมสมบูรณ์ขึ้น จะมีผลกระทบอะไรตามมาบ้าง
สมัยที่เรายังอยู่ในยุคล่าสัตว์ การมีลูกเล็กในขณะที่ต้องย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ นั้นเป็นเรื่องยากลำบาก ผู้หญิงจึงมักจะรอให้ลูกตัวเองโตระดับหนึ่งก่อนจึงจะยอมปล่อยให้มีลูกคนถัดไป แต่เมื่อถึงยุคชาวนาที่ลงหลักปักฐานแล้ว การมีลูกหัวปีท้ายปีเป็นสิ่งที่ทำได้ จำนวนคนในเผ่าจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องผลิตอาหารมากขึ้น ต้องทำงานกันหนักขึ้น ต้องใช้กำลังคนมากขึ้น ขนาดของหมู่บ้านจึงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นเมืองและอาณาจักรไปในที่สุด
อีกคำถามหนึ่งก็คือ ในเมื่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนยุคชาวนานั้นแย่กว่าเดิม ทำไมพวกเขาถึงไม่กลับไปใช้วิถีชีวิตแบบเก่า คำตอบก็คือเขาทำไม่ได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงจากสังคมล่าสัตว์ไปสู่สังคมเกษตรกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่เกิดขึ้นผ่านคนนับร้อยเจนเนอเรชั่น พอมาถึงรุ่นที่ร้อยเขาก็ไม่มีทางรู้แล้วว่ารุ่นที่หนึ่งนี่เคยอยู่กันอย่างไร และถึงจะรู้ก็ไม่มีทักษะที่จะกลับไปอยู่อย่างนั้นอีกต่อไปแล้ว
โดยธรรมชาติของวิวัฒนาการหรือ Evolution นั้น มันไม่แคร์หรอกว่าในระดับปัจเจกจะมีความทุกข์ทนหรือความลำบากแค่ไหน สิ่งเดียวที่มันแคร์ก็คือการส่งต่อยีนที่แข็งแรงที่สุดและการเพิ่มจำนวนของเผ่าพันธุ์ให้ได้มากที่สุด เพราะถ้ามันทำไม่ได้ สัตว์ชนิดนั้นก็จะสูญพันธุ์และวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์นี้ก็จะถือเป็น “ความล้มเหลว” ดังนั้นแม้ว่าแต่ละคนจะอยู่อย่างลำบากมากยิ่งขึ้นในยุคแห่งการปฏิวัติเกษตรกรรม แต่สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมันได้ทำให้จำนวนประชากรของ Sapiens เพิ่มขึ้นหลายเท่าทวีคูณ ซึ่งเป็น “ความสำเร็จ” ในเชิงวิวัฒนาการ
อย่าลืมว่านอกจากเราจะหันมาทำไร่ทำนาแล้ว ยุคแห่งการปฏิวัติเกษตรกรรมคือยุคที่เราเริ่มนำสัตว์มาเลี้ยงเพื่อใช้งานหรือเป็นอาหารด้วย และเมื่อจำนวนคนมากขึ้น จำนวนสัตว์เหล่านี้ก็มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เมื่อหนึ่งหมื่นปีที่แล้ว มีแกะ หมู วัว และไก่อยู่แค่ไม่กี่ล้านตัว แต่ในตอนนี้ โลกมีแกะหนึ่งพันล้านตัว หมูหนึ่งพันล้านตัว วัวมากกว่าหนึ่งพันล้านตัว และไก่สองหมื่นห้าพันล้านตัว
ถ้ามองในแง่จำนวนประชากรแล้ว สัตว์สี่อย่างนี้ถือเป็นสัตว์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการแพร่กระจายเผ่าพันธุ์ไปทั่วโลก แต่แม้จะมีจำนวนประชากรมหาศาล แต่ความเป็นอยู่ของมันกลับน่าสงสารเป็นอย่างยิ่ง คนในประเทศนิวกินี (New Guinea)่ จะถือว่าการมีหมูในครอบครองคือความมั่งคั่ง เพื่อกันไม่ให้หมูหนีไปไหน เจ้าของหมูจึงมักจะเฉือนจมูกหมูของตัวเองเพื่อที่หมูมันจะได้ดมกลิ่นหาทางไม่ได้ ส่วนบางเผ่าก็ใช้วิธีควักลูกตาออกมาเพื่อให้หมูต้องพึ่งพาเจ้านายของมันไปตลอดชีวิต
อุตสาหกรรมนมวัวก็ทำให้ชีวิตแม่วัวมีชะตากรรมที่รันทดพอกัน แม่วัวจะมีนมก็ต่อเมื่อมันมีลูกเท่านั้น มันจึงถูกฉีดยาเพื่อทำให้ท้อง พอมันคลอดลูกแล้วมันก็จะถูกพรากลูกไปทันที แล้วพวกเราก็จะรีดนมจากแม่วัวจนเกลี้ยง จากนั้นแม่วัวก็จะถูกทำให้ท้องอีกภายในเวลา 60-120 วัน แล้ววงจรนี้ก็จะวนไปเรื่อยๆ จนเมื่ออายุครบห้าปีแล้วแม่วัวก็จะถูกฆ่าทิ้ง
มาดูชีวิตลูกวัวกันบ้าง – ลูกวัวตัวเมียนั้นจะถูกเลี้ยงให้เป็นโคนม ส่วนลูกวัวที่เป็นตัวผู้จะถูกเลี้ยงเพื่อให้เป็นสเต๊กจานเด็ด โดยตอนที่ลูกวัวตัวผู้เกิดมา มันจะถูกจับไปอยู่ในคอกที่มีขนาดเท่ากับตัวมันพอดี ตลอดช่วงเวลาที่มันอยู่ในคอกมันจะไม่ได้เดินไปไหนหรือเล่นกับลูกวัวตัวอื่นเลย เพราะถ้าปล่อยให้มันได้ออกกำลัง กล้ามเนื้อของมันจะแข็งแรงและทำให้เนื้อเหนียวกินไม่อร่อย โอกาสเดียวที่มันจะได้เดินและได้เล่นกับวัวตัวอื่นก็คือตอนที่มันถูกต้อนขึ้นรถไปโรงฆ่าสัตว์ตอนที่มันอายุครบสี่เดือน
แม้วัวจะเป็นหนึ่งในเผ่าพันธุ์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในเชิงปริมาณ แต่ถ้ามองในเชิงคุณภาพชีวิตแล้วถือว่ามันเป็นเผ่าพันธุ์ที่ซวยที่สุดเผ่าพันธุ์หนึ่งเลยทีเดียว นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การมองความสำเร็จเชิงปริมาณอย่างเดียวนั้นให้ภาพที่ไม่ครบถ้วน เราต้องดูด้วยว่าสุดท้ายแล้วความสำเร็จนั้นมันได้สร้างผลกระทบอะไรให้กับชีวิตของแต่ละคน (หรือแต่ละตัว) บ้าง ในบทต่อไปเราจะเห็นภาพที่ชัดขึ้นว่า “การพัฒนา” ของสังคมมนุษย์ในยุคต่อๆ มาได้นำพามาซึ่งความเจ็บปวดในระดับปัจเจกอย่างไรอีกบ้าง
ที่มา: https://anontawong.com.