ตอนที่ 14 – 500 ปีแห่งความก้าวหน้า
Last updated
Last updated
ก่อนจะเกิดการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์เมื่อ 500 ปีที่แล้ว มนุษย์ไม่ได้เชื่อว่าโลกจะสามารถก้าวหน้าไปได้มากกว่านี้ เพราะพวกเขารู้สึกว่า “ยุคทอง” ได้ผ่านพ้นไปแล้ว การยึดมั่นและปฏิบัติตามความรู้จากบรรพชนเป็นทางเดียวที่จะกล้บไปมี “ชีวิตดีๆ” ได้
เราอาจปรับปรุงชีวิตให้ดีขึ้นได้เล็กน้อย แต่ไม่มีใครเชื่อว่าเราจะแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานไปได้มากกว่านี้ ถ้าศาสดาผู้รู้ความจริงของสรรพสิ่งอย่างท่านมูฮัมหมัด ขงจื๊อ พระพุทธเจ้า หรือพระเยซู ยังไม่สามารถขจัดโรคระบาด ความอดอยาก ความยากจน และสงครามได้แล้ว มนุษย์ธรรมดาอย่างเราๆ จะไปมีปัญญาแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
แต่เมื่อมนุษย์ยอมรับว่าตัวเองยังไม่รู้ทุกอย่าง และเริ่มเชื่อว่าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์จะมอบพลังและอำนาจให้ ผู้คนจึงมองว่าความก้าวหน้าอาจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ หลังจากวิทยาศาสตร์เริ่มแก้ปัญหาให้เห็นทีละข้อ มนุษย์ก็มีความเชื่อมั่นว่า ความยากจน ความเจ็บไข้ ความหิวโหย สงคราม ความชรา และความตายไม่ใช่โชคชะตาที่มนุษยชาติหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่มันยังเป็นปัญหาเพราะมนุษยชาติยังมีความรู้ไม่มากพอต่างหาก
ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือฟ้าผ่าที่มนุษย์เคยเชื่อว่ามันคือการฟาดค้อนของพระเจ้าเพื่อลงโทษคนบาป แต่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 เบนจามิน แฟรงคลิน ได้ทำการทดลองปล่อยว่าวให้บินอยู่ท่ามกลางฝนเพื่อจะทดสอบสมมติฐานที่ว่าฟ้าผ่านั้นจริงๆ แล้วเป็นเพียงกระแสไฟรูปแบบหนึ่งเท่านั้น และเมื่อเสร็จการทดลองนี้ แฟรงคลินก็ได้สร้างสายล่อฟ้าที่ “ปลดอาวุธของพระเจ้า” ได้สำเร็จ
ในประวัติศาตร์ที่ผ่านมา ทุพภิกขภัย (famine) หรือการขาดอาหารจนคนจำนวนมากล้มตายนั้นเป็นเรื่องปกติมาก แต่ในปัจจุบันทุพภิกขภัยนั้นลดระดับความรุนแรงไปมาก ครั้งใดก็ตามที่เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ องค์กรนานาชาติและประชาชนทั่วโลกก็พร้อมจะส่งความช่วยเหลือไปให้ และแม้ยังมีอีกหลายประเทศที่ประชาชนยังขาดสารอาหาร แต่ก็แทบไม่มีประเทศใดที่คนอดอาหารจนตายอีกแล้ว อันที่จริง ในหลายประเทศคนเสี่ยงที่จะตายจากโรคอ้วนมากกว่าด้วยซ้ำ
โปรเจ็คกิลกาเมช (Gilgamesh Project)
มหากาพย์กิลกาเมช เป็นหนึ่งในงานวรรณกรรมประเภทนิยายที่เก่าแก่ที่สุดในโลกของชาวสุเมเรียนเกี่ยวกับวีรบุรุษในตำนานที่ชื่อว่า “กิลกาเมช” ซึ่งออกตามหาหนทางที่จะทำให้มนุษย์เป็นอมตะ เขาออกค้นหาไปสุดขอบจักรวาล ต้องต่อสู้กับสิงโตและมนุษย์แมงป่อง ลงไปยมโลกและได้พบกับเทพอุตนาพิชทิม (Utnapishtim) ปราชญ์ผู้รอดจากน้ำท่วมโลก แต่สุดท้ายแล้วกิลกาเมชก็กลับบ้านมือเปล่าเพราะไม่สามารถหาวิธีที่จะทำให้ตัวเองเป็นอมตะได้ กิลกาเมชจึงยอมรับว่าเมื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์และมอบชีวิตให้ พระเจ้าก็ได้มอบความตายให้ด้วย มนุษย์จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้
ในบรรดาปัญหาทั้งหมดที่มนุษยชาติประสบ ปัญหาที่สำคัญและน่าสนใจที่สุดคงหนีไม่พ้นความตาย หลายศาสนาที่เรารู้จักบอกว่าความตายเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และบางศาสนาก็ยังให้คำมั่นด้วยว่าถ้าเชื่อมั่นในพระเจ้าเราก็จะมีชีวิตหลังความตายที่ดี ลองคิดภาพว่าถ้ามนุษย์ไม่ตาย ศาสนาเหล่านี้จะอยู่กันอย่างไร ผู้มีปัญญาในยุคก่อนจึงใช้เวลาและความคิดไปกับการหาความหมายให้ความตาย ไม่ใช่เพื่อจะหลุดรอดจากมัน
แต่สำหรับนักวิทยาศาสตร์แล้ว ความตายไม่ใช่โชคชะตาที่ต้องยอมจำนน แต่เป็นเพียงปัญหาเชิงเทคนิคเท่านั้น คนเราตายไม่ใช่เพราะพระเจ้ากำหนดมา แต่เกิดจากความล้มเหลวเชิงเทคนิค (technical failures) เช่นหัวใจวาย มะเร็ง หรือการติดเชื้อ
ถ้าหัวใจเต้นผิดปกติ เราก็สามารถฝัง pacemaker หรือผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้ ถ้าเซลล์มะเร็งเริ่มขยายตัว เราก็แค่ฆ่ามันด้วยยาและการฉายแสง ถ้าแบคทีเรียอาละวาด เราก็กำจัดมันด้วยยาปฏิชีวนะ
แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถแก้ปัญหาทางเทคนิคได้ทั้งหมด แต่คนที่ฉลาดที่สุดในยุคนี้ก็ยังคงวิจัยค้นคว้ากันต่อไป พวกเขาไม่มานั่งหาความหมายให้ความตายแล้ว แต่ใช้เวลาและกำลังที่มีในการทำความเข้าใจระบบต่างๆ ในร่างกายที่นำไปสู่การเจ็บป่วยและความตาย และคิดค้นวิธีการรักษาใหม่ๆ รวมถึงทำอวัยวะเทียมเพื่อยืดอายุให้กับมนุษย์และแม้กระทั่งเอาชนะความตายได้ในอนาคต
รุกคืบความตาย แม้การเอาชนะความตายจะดูเหมือนความฝันที่ยังยาวไกล แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ของเราก็เดินทางมาไกลมากเมื่อเทียบกับไม่กี่ร้อยปีที่แล้ว
ในปี 1199 กษัตริย์อังกฤษนามริชาร์ดใจสิงห์ (King Richard the Lionheart) ถูกธนูยิงที่หัวไหล่ซ้าย ถ้ามองจากสายตาคนสมัยนี้ก็จะรู้สึกว่าเป็นอาการบาดเจ็บที่ไม่ร้ายแรงมาก แต่ในปี 1199 ที่ยังไม่มียาปฏิชีวนะและคนยังไม่รู้วิธีการฆ่าเชื้อ แผลของริชาร์ดจึงติดเชื้อและหัวไหล่ก็กลายเป็นเนื้อตายเน่า (gangrene) วิธีเดียวที่จะหยุดการลุกลามของเนื้อตายเน่าในสมัยนั้นคือการตัดแขน ซึ่งก็ทำไม่ได้เพราะแผลเกิดตรงหัวไหล่พอดี ไม่มีใครช่วยริชาร์ดใจสิงห์ได้ และท่านก็เสด็จสวรรคตในอีกสองสัปดาห์ถัดมา
ส่วนยาชาหรือยาสลบเพิ่งจะถูกนำมาใช้งานเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วนี้เอง ก่อนหน้านั้นหากทหารคนไหนได้รับบาดเจ็บที่แขนหรือขาก็จะถูกทหารอีกสี่คนช่วยกันรั้งตัวเอาไว้ในขณะที่หมอตัดแขนนั้นทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อตายเน่านั้นลุกลาม ช่างไม้และคนชำแหละเนื้อสัตว์มักจะถูกเกณฑ์ทหารให้ไปประจำอยู่ในหน่วยแพทย์เพราะการผ่าตัดสมัยนั้นอาศัยเพียงรู้ว่าจะใช้มีดและเลื่อยยังไงก็เพียงพอแล้ว
แต่วิวัฒนาการทางการแพทย์ในช่วงสองร้อยปีที่ผ่านมาทำให้โลกเปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้ ยาใหม่ๆ และวิธีการผ่าตัดที่ก้าวหน้าทำให้เรารับมือกับความเจ็บปวดและอาการบาดเจ็บได้ดียิ่งกว่ายุคใดๆ อายุขัยเฉลี่ยของมนุษย์เพิ่มจาก 25 ปีเป็น 67 สำหรับประชากรโลก ส่วนในประเทศที่เจริญแล้วอายุเฉลี่ยจะอยู่ที่ 80 ปี
ความตายถูกวิทยาศาสตร์รุกคืบมากที่สุดในเรื่องการตายในวัยเยาว์ (child mortality)
ก่อนจะเข้าสู่ศตวรรษที่ 19 เกือบ 1 ใน 3 ของเด็กที่เกิดมาไม่ได้อยู่จนถึงวัยผู้ใหญ่
ลองมาดูประวัติการให้กำเนิดของบุตรของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 1 (1237-1307) และพระราชินีเอเลนอร์ (1241-1290) กัน (ผมขออนุญาตไม่ใช้ราชาศัพท์นะครับ)
ลูกสาว (ยังไม่ได้ตั้งชื่อ) เกิดในปี 1255 เสียชีวิตตอนคลอด
ลูกสาวชื่อแคทเธอรีน เสียชีวิตตอนอายุ 1 ขวบ
ลูกสาวชื่อโจน เสียชีวิตตอนอายุ 6 เดือน
ลูกชาวชื่อจอห์น เสียชีวิตตอน 5 ขวบ
ลูกชายชื่อเฮนรี่ เสียชีวิตตอน 6 ขวบ
ลูกสาวชื่อเอเลนอร์ เสียชีวิตตอน 29 ปี
ลูกสาว (ยังไม่ได้ตั้งชื่อ) เสียชีวิตตอน 5 เดือน
ลูกชาวชื่อโจน เสียชีวิตตอนอายุ 35 ปี
ลูกชายชื่ออัลฟองโซ เสียชีวิตตอน 10 ขวบ
ลูกสาวชื่อมากาเร็ต เสียชีวิตตอนอายุ 58 ปี
ลูกสาวชื่อเบอเรนเจเรีย เสียชีวิตตอนอายุ 2 ขวบ
ลูกสาว (ยังไม่ได้ตั้งชื่อ) เสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน
ลูกชาวชื่อโจน เสียชีวิตตอนอายุ 35 ปี
ลูกชาย (ยังไม่ได้ตั้งชื่อ) เสียชีวิตหลังคลอดได้ไม่นาน
ลูกสาวชื่อเอลิซาเบธ เสียชีวิตตอนอายุ 34 ปี
ลูกชายชื่อเอ็ดเวิร์ด
ลูกชายคนสุดท้ายที่ชื่อเอ็ดเวิร์ด เป็นลูกผู้ชายคนเดียวที่รอดพ้นช่วงอันตรายในวัยเด็กมาและเติบโตพอจะขึ้นสืบทอดราชบัลลังก์เป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 2 ได้
พูดอีกในหนึ่งก็คือราชินีเอเลนอร์ต้องตั้งท้องถึง 16 ครั้งถึงจะให้กำเนิดรัชทายาทให้กับพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1!
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 1 และพระราชินีเอเลนอร์ล้วนมีพระวรกายแข็งแรง แต่ในบรรดาลูก 16 คนนั้น มีเพียง 6 คนเท่านั้นที่มีพระชนมายุถึง 15 ปี นี่ยังไม่นับลูกอีกหลายคนที่แท้งเสียก่อนคลอดอีกด้วยนะครับ นึกภาพไม่ออกเลยว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่สมัยนั้นต้องพบเจอกับความเจ็บปวดจากการสูญเสียลูกมากมายแค่ไหน
ตัดภาพมาที่อังกฤษสมัยนี้ ในเด็ก 1000 คน จะมีถึง 993 คนที่อยู่จนอายุครบ 15 ปี
เมื่อไหร่มนุษย์จะเป็นอมตะ? แล้วต้องใช้เวลาอีกนานไหมกว่าที่โปรเจ็คกิลกาเมชจะประสบผลสำเร็จ?
เมื่อมองกลับไป 100 ปีและเทียบกับสิ่งที่เรารู้ในตอนนี้ เราก็มีสิทธิ์หวังได้ว่าความสามารถในการเรียนรู้และการคิดค้นจะพาเราไปสู่ปลายทางได้ในเวลาไม่นานนัก
วิศวกรพันธุกรรม (genetic engineer) ได้ค้นพบวิธีที่จะทำให้หนอน Caenorhabditis elegans มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2 เท่าแล้ว ส่วนจะทำกับมนุษย์ได้หรือไม่นั้นเป็นสิ่งที่ต้องรอดูกันต่อไป
ผู้เชี่ยวชาญด้าน nanotechnologies ก็กำลังสร้าง nano-robots ที่จะสามารถเข้าไปอยู่ในร่างกายของเราเพื่อเปิดทางเดินส้นเลือดที่กำลังจะอุดตัน ต่อต้านเซลล์มะเร็ง หรือแม้กระทั่งย้อนรอยการชราภาพ (reverse ageing process)
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่ามนุษย์จะสามารถกลายเป็นคน amortal ได้ภายในปี 2050
มนุษย์ amortal ไม่ใช่ มนุษย์อมตะ (immortal) เพราะมนุษย์ amortal อาจจะยังตายได้จากอุบัติเหตุ แต่จะไม่ตายจากโรคหรือความชราอีกต่อไป
แรงขับเคลื่อนของวิทยาศาสตร์ เวลาเรานึกถึงนักวิทยาศาสตร์ เรามักจะเห็นภาพของชายวัยดึกที่มีหนวดเคราที่ยึดมั่นในอุดมการณ์และวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งความลับของธรรมชาติ
แต่เราต้องไม่ลืมว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่อยู่เหนือคนอื่นในด้านศีลธรรมหรืออุดมการณ์เลย เช่นเดียวกับกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ก็ล้วนแต่ถูกขับเคลื่อนด้วยพลังทางการเมือง เศรษฐกิจและศาสนาเช่นกัน
ที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้ามากในช่วง 500 ปีที่ผ่านมาก็เพราะว่ารัฐบาล ธุรกิจ และองค์กรต่างๆ เต็มใจที่จะให้เงินสนับสนุนนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ให้ได้ทำงานวิจัย สมมติกาลิเลโอหรือชาลส์ดาร์วินไม่ได้เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ ความรู้ที่พวกเขาค้นพบก็น่าจะถูกค้นพบโดยนักวิทยาศาสตร์คนอื่นอยู่ดี แต่ถ้าไม่มีเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ นักวิทยาศาสตร์อย่างดาร์วินจะไม่มีทางได้ไปเก็บข้อมูลทั่วโลกเพื่อนำมาสร้างองค์ความรู้ทางวิวัฒนาการได้อย่างแน่นอน
สาเหตุที่ผู้มีอำนาจให้เงินสนับสนุนการค้นคว้า ก็เพราะว่าพวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่ค้นพบนั้นจะยิ่งมาช่วยเพิ่มพูนอำนาจของเขา ยกตัวอย่างเช่นในศตวรรษที่ 16 ที่ผู้มีอำนาจในยุโรปต่างเป็นสปอนเซอร์ให้นักสำรวจเดินทางไปทั่วโลก แต่ไม่มีใครสนใจสปอนเซอร์การวิจัยจิตวิทยาในเด็ก เหตุผลก็เพราะว่าพวกเขาเชื่อว่าการออกสำรวจดินแดนใหม่ จะนำมาซึ่งทรัพยากรและเส้นทางการค้าใหม่ๆ ขณะที่การเข้าใจความคิดของเด็กนั้นไม่เห็นจะมีประโยชน์ตรงไหน
ดังนั้นความเชื่อหรือ ideologies ของผู้ที่มีอำนาจจึงเป็นตัวกำหนดว่านักวิทยาศาสตร์ควรจะศึกษาเรื่องอะไร และในทางกลับกันเมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้นั้นมาแล้ว ผู้ที่เป็นสปอนเซอร์ก็จะเป็นคนที่ตัดสินใจว่าจะเอาความรู้นั้นไปใช้ในทางไหน
แรงผลักที่สำคัญที่สุดต่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์คือจักรวรรดินิยมและทุนนิยม ความเชื่อมโยงกันระหว่างเงินทุน ความรู้ และพลังอำนาจเป็นตัวขับเคลื่อนความเจริญก้าวหน้าที่สำคัญที่สุดในรอบ 500 ปีที่ผ่านมา
ตอนหน้าเราจะมาคุยกันครับว่าจักรวรรดินิยมขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง
ที่มาบทความ :https://anontawong.com