ตอนที่ 16 – สวัสดีทุนนิยม
Last updated
Last updated
นายอนันต์ตัดสินใจเปิดธนาคารแห่งใหม่
นายเอนกทำอาชีพรับเหมาก่อสร้าง เพิ่งได้เงินจากลูกค้ามาเป็นเงินสด 1 ล้านบาท จึงตัดสินใจเอาเงินมาเปิดบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารของนายอนันต์
นางอนงค์อยากจะเปิดร้านเบเกอรี่ จึงไปจ้างนายเอนกมาทำร้าน แต่นางอนงค์ไม่มีเงินทุน จึงไปกู้ธนาคารของนายอนันต์มา 1 ล้านบาท
เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายเงิน นางอนงค์จึงเขียนเช็คสั่งจ่ายนายเอนก 1 ล้านบาท นายเอนกนำเช็คนั้นมาฝากที่ธนาคารของนายอนันต์อีกครั้ง
ตอนนี้ตัวเลขในบัญชีเงินฝากของนายเอนกมีเงิน 2 ล้านบาทแล้ว
แต่เงินสดที่อยู่ในธนาคารของนายอนันต์มีเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น
ยังไม่พอ เมื่อก่อสร้างร้านเบเกอรี่ไปซักพักงบก็บานปลาย นายเอนกบอกนางอนงค์ว่าต้องใช้งบเพิ่มอีก 1 ล้านบาท นางอนงค์จึงยอมกัดฟันกู้ธนาคารของนายอนันต์เพิ่มอีก 1 ล้านบาทมาจ่ายให้นายเอนก ซึ่งนายเอนกก็เอาไปเข้าบัญชีตามเคย
ตอนนี้นายเอนกมี “เงินในบัญชี” 3 ล้านบาท แต่ “เงินสด” ที่อยู่ในธนาคารของนายอนันต์ก็ยังคงมีเพียง 1 ล้านบาทเท่านั้น
เงิน 2 ล้านบาทงอกมาจากไหน? ร้านเบเกอรี่ของนางอนงค์ยังไม่เปิดเลยด้วยซ้ำ
นิยามทุนนิยม
ในโลกของทุนนิยม คำที่เป็นคีย์เวิร์ดคือ “การเจริญเติบโต” (growth)
ทุนนิยมเชื่อว่ามนุษย์มีศักยภาพที่จะสร้างความเจริญเติบโตไปได้เรื่อยๆ
เงินส่วนต่าง 2 ล้านบาทนั้น แสดงถึงความเชื่อมั่นของธนาคารว่าเบเกอรี่ของนางอนงค์จะสามารถสร้างรายได้มากกว่า 2 ล้านบาทในอนาคต
การที่นางอนงค์ “นำเงินจากอนาคตมาใช้ในตอนนี้” ก็คือการขอสินเชื่อ (credit) จากธนาคารนั่นเอง
ในอเมริกา กฎหมายอนุญาตให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้เป็นมูลค่าเท่ากับ 10 เท่าของเงินสดที่ธนาคารถืออยู่
นั่นหมายความว่าถ้านายอนันต์เปิดธนาคารในอเมริกา นายอนันต์จะปล่อยกู้ได้ถึง 10 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ตัวเองมีเงินสดอยู่ในเซฟแค่ 1 ล้านบาทเท่านั้น (นี่คือเหตุผลที่ทำไมธนาคารถึงกลัวนักกลัวหนาเวลาคนแห่ไปถอนเงินสด เพราะถ้าทุกคนถอนหมดบัญชีจริงๆ ธนาคารจะไม่มีทางมีเงินจ่ายพอแน่นอน)
จริงๆ สิ่งที่เรียกว่า “สินเชื่อ” นั้นมีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยชาวสุเมเรียนด้วยซ้ำ แต่สินเชื่อในสมัยก่อนนั้นมีมูลค่าเล็กน้อยมากและมีระยะเวลาให้ยืมเพียงสั้นๆ
เหตุผลหลักที่ไม่มีใครปล่อยสินเชื่อเยอะๆ หรือนานๆ ก็เพราะว่า ก่อนปี 1500 นั้นคนส่วนใหญ่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะไม่โตไปกว่านี้แล้ว
พูดง่ายๆ ก็คือคนมองว่าเศรษฐกิจนี้เป็นพายแค่ชิ้นเดียวที่ต้องแบ่งกันทุกคน ถ้ามีคนได้ก็ต้องมีคนเสีย ถ้านางอนงค์เปิดร้านเบเกอรี่ขึ้นมาแล้วขายดี แสดงว่าร้านเบเกอรี่อีกร้านหนึ่งต้องสูญเสียรายได้หรือลูกค้า ทุกอย่างคือ zero-sum game
คนสมัยเก่าจึงไม่เชื่อเรื่องการเจริญเติบโต ถ้าชนชั้นสูงมีเงินเหลือกินเหลือใช้ เขาก็จะเอาไปบริจาคหรือไม่ก็จะใช้มันไปอย่างสุรุ่ยสุร่ายกับเสื้อผ้าสุดหรูหรือการจัดงานเลี้ยงเต้นรำ ไม่มีใครคิดจะเอาเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยแต่อย่างใด
แต่ทัศนคติของมนุษย์ก็เปลี่ยนไปพร้อมกับการมาถึงของการปฏิวัติวิทยาศาสตร์
การคิดค้นเครื่องมือใหม่ๆ อย่างเครื่องจักรไอน้ำ หรือการค้นพบดินแดนใหม่ๆ อย่างทวีปอเมริกา ทำให้ชาวยุโรปเริ่มเชื่อว่าพายชิ้นนี้สามารถใหญ่ขึ้นได้ (the pie is getting bigger) การที่ร้านเบเกอรี่ของนางอนงค์ขายดีไม่จำเป็นต้องทำให้ร้านเบเกอรี่อื่นๆ ยอดขายตก
ในปี 1776 นายอดัม สมิธ (Adam Smith) ได้เขียนหนังสือ The Wealth of Nations ที่กลายมาเป็นคัมภีร์ขึ้นหิ้งของนักเศรษฐศาสตร์
ในบทที่ 8 สมิธ บอกว่า หากเจ้าของธุรกิจมีกำไรเหลือ เขาก็จะนำกำไรนั้นมาซื้อเครื่องจักรและจ้างคนเพิ่มเพื่อจะทำกำไรให้มากขึ้นอีก ซึ่งก็จะทำให้เขาสามารถซื้อเครื่องจักรและจ้างคนได้มากกว่าเดิม ดังนั้นความมั่งคั่งของคนหนึ่งคนจึงหมายถึงความมั่งคั่งและรุ่งเรืองของสังคม
ฟังดูเป็นประโยคที่ธรรมดามากสำหรับพวกเรา แต่ในสมัยนั้นนี่ถือเป็นการปฏิวัติทางความคิดของมนุษย์เลยก็ว่าได้ เพราะเป็นครั้งแรกที่มีคนออกมาบอกว่าการตอบสนองความโลภของคนๆ หนึ่งจะช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ (เจ้าของธุรกิจมีเงินมากขึ้น แต่คนจำนวนมากก็จะมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน)
เบอร์หนึ่งในยุโรป
ในปี 1484 คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ได้เข้าเฝ้ากษัตริย์ของโปรตุเกสและเสนอแผนว่าจะล่องเรือไปทางตะวันตกเพื่อค้นหาเส้นทางการค้าสายใหม่กับชาติเอเชีย โปรเจ็คนี้มีความเสี่ยงสูงมากเพราะต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อซื้อเรือ จ้างคนและซื้อเสบียง และสุดท้ายอาจจะกลับมามือเปล่าก็ได้ กษัตริย์ของโปรตุเกสจึงตอบปฏิเสธไป
แต่โคลัมบัสก็ไม่ยอมแพ้ เที่ยว pitch งานของเขากับผู้มีเงินทุนในอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ แต่ก็คว้าน้ำเหลว จนสุดท้ายเขาก็ขายโปรเจ็คนี้ให้กับกษัตริย์ Ferdinand และราชินี Isabella แห่งสเปนได้สำเร็จ (ตอนนั้นสเปนเพิ่งรวมประเทศ)
การค้นพบทวีปอเมริกาในคราวนั้นสร้างรายได้ให้กับสเปนมหาศาลจนสเปนกลายมาเป็นชาติมหาอำนาจของยุโรปในศตวรรษที่ 16
แต่ในศตวรรษที่ 17 สเปนก็เสียแชมป์ให้กับประเทศเล็กๆ อย่างฮอลแลนด์ โดยเหตุผลหลักคือฮอลแลนด์มีระบบการเงินที่มั่นคงกว่าและมีกระบวนการยุติธรรมที่แข็งแกร่งกว่าสเปน (ซึ่งทุกอย่างยังขึ้นอยู่กับกษัตริย์และราชวงศ์) เงินของนักลงทุนจึงไหลไปที่อัมสเตอร์ดัมและทำให้พ่อค้าชาวฮอลแลนด์สามารถส่งเรือไปขนสินค้าจากอเมริกาและเอเชียกลับมาขายได้มากมาย จะบอกว่าจักรวรรดิดัทช์นั้นถูกสร้างโดยพ่อค้าก็คงไม่ผิดนัก
ช่วงปลายศตวรรษที่ 17 การแพ้สงครามนอกประเทศของฮอลแลนด์หลายต่อหลายครั้งทำให้ฮอลแลนด์เสียบัลลังก์เบอร์ 1 ของยุโรปไป (ปี 1664 ฮอลแลนด์ต้องเสียเมืองที่ชื่อว่า New Amsterdam ริมฝั่งแม่น้ำฮัดสันให้กับอังกฤษ ชื่อของเมืองจึงถูกเปลี่ยนเป็น New York ตั้งแต่นั้นมา)
ในช่วงนั้นประเทศที่แข่งขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของยุโรปคือฝรั่งเศสกับอังกฤษ ฝรั่งเศสนั้นได้เปรียบอังกฤษในหลายๆ ด้านเพราะมีประชากรมากกว่าและมีกองทัพที่ใหญ่กว่า แต่แล้วฝรั่งเศสก็สะดุดขาตัวเองจากเหตุการณ์อื้อฉาวที่มีชื่อว่าฟองสบู่มิสซิสซิปปี (Mississippi Bubble)
ตอนนั้นบริษัทชื่อมิสซิสซิปปีซึ่งก่อตั้งในฝรั่งเศสและมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับชนชั้นสูงต้องการจะยึดครองดินแดนหนึ่งในรัฐมิสซิสซิปปีเพื่อตั้งเมืองใหม่ชื่อ New Orleans บริษัทจึงระดมทุนด้วยการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในกรุงปารีส
จริงๆ ที่ดินในนิวออร์ลีนส์แทบไม่มีอะไรเลยนอกจากหนองบึงและจระเข้ แต่ทางบริษัทก็ได้ปล่อยข่าวลือว่านี่คือดินแดนที่อุดมสมบูรณ์และเต็มไปด้วยโอกาสมากมาย ชนชั้นกลางและเหล่าเศรษฐีใหม่ต่างก็ตื่นเต้นกับข่าวนี้จึงเข้าไปซื้อหุ้นจนราคาพุ่งจาก 500 เป็น 10,000 เหรียญต่อหุ้นในเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน แต่พอตลาดเริ่มรู้ตัวว่าราคาสูงเกินจริง คนก็เริ่มเทขาย ราคาจึงตกลงมาอย่างน่าใจหาย รัฐบาลพยายามเข้ามาช่วยอุ้มด้วยการเข้าไปช้อนหุ้นจนเงินหมดคลัง รัฐมนตรีคลังจึงสั่งให้พิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อมาซื้อหุ้นอีก การทำอย่างนี้ทำให้เศรษฐกิจทั้งหมดของฝรั่งเศสอยู่ในฟองสบู่ แถมยังไม่สามารถแก้วิกฤติได้ด้วยเพราะหุ้นของมิสซิสซิปปีตกจาก 10,000 มาเป็น 1,000 เหรียญก่อนที่จะไม่มูลค่าเหลือเลย รัฐบาลฝรั่งเศสจึงถังแตกและมีเพียงกระดาษหุ้นที่ไร้ค่า นี่คือวิกฤติเศรษฐกิจยุโรปที่ใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้
ความผิดพลาดคราวนั้นทำให้ประเทศอื่นๆ ไม่กล้าให้ฝรั่งเศสยืมเงิน หรือถึงให้ยืมก็เก็บดอกเบี้ยสูงมาก ทุนส่วนใหญ่จึงไหลไปอยู่กับประเทศอังกฤษแทน อังกฤษใช้สถาบันการเงินที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนการยึดครองดินแดนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นอเมริกาเหนือหรืออินเดีย ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการยึดครองโดยบริษัท หาใช่โดยรัฐบาล (บริษัทยักษ์ใหญ่ในสมัยนั้นจะขนทหารรับจ้างไปด้วยเวลาต้องการไปยึดเมืองในอเมริกาหรือเอเชีย)
ตลาดเสรี
คนที่สนับสนุนตลาดเสรีมักจะมองว่ารัฐบาลควรจะเข้ามาแทรกแซงตลาดทุนให้น้อยที่สุด เพราะรัฐบาลมักออกนโยบายที่ทำให้ตลาดไม่มีประสิทธิภาพ เช่นเก็บภาษีแพงๆ เพื่อนำมาเป็นสวัสดิการสำหรับคนตกงาน (ซึ่งทำให้ฐานเสียงของรัฐบาลดีขึ้นแต่คนกลุ่มหนึ่งก็จะรับเงินโดยที่ไม่ได้สร้างผลผลิตอะไร) สู้เอาเงินที่จะเก็บภาษีมาไว้กับนายทุนดีกว่า เพราะนายทุนจะเอาเงินนั้นไปเปิดโรงงานและจ้างคนเพิ่มซึ่งย่อมจะทำให้สังคมโดยรวมดีขึ้น
แต่การปล่อยให้ตลาดทำงานอย่างเสรีนั้นดีจริงหรือ? เพราะทรัพยากรที่สำคัญที่สุดสำหรับเศรษฐกิจคือ “ความเชื่อมั่น” ซึ่งความเชื่อมั่นอาจถูกสั่นคลอนได้ตลอดจากการต้มตุ๋นหลอกลวง จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะปกป้องระบบเศรษฐกิจด้วยการออกกฎหมายและและตรวจสอบไม่ให้เสือสิงห์กระทิงแรดทั้งหลายเข้ามาเอารัดเอาเปรียบ เมื่อใดก็ตามที่รัฐทำหน้าที่นี้บกพร่อง ความเชื่อมั่นก็จะหดหายและเศรษฐกิจก็จะโกลาหลเหมือนอย่างตอนที่เกิดฟองสบู่มิสซิสซิปปี หรือวิกฤติ subprime ในอเมริกาในปี 2007
ยังมีอีกเหตุผลสำคัญที่เราไม่ควรปล่อยให้ตลาดเสรีทำงานอย่างอิสระ
ก่อนการมาถึงของทุนนิยม “น้ำตาล” เป็นอาหารที่หายากมากในยุโรป มันจะถูกนำเข้าจากตะวันออกกลางในราคาที่แพงลิบลิ่วเพื่อนำมาใช้เป็น “วัตถุดิบลับ” ในการทำอาหารจานพิเศษสำหรับชนชั้นสูง
แต่หลังจากทวีปอเมริกาถูกค้นพบ หนึ่งในธุรกิจที่เฟื่องฟูที่สุดคือการทำไร่อ้อย คนยุโรปจึงเข้าถึงน้ำตาลได้ในราคาที่ถูกลงมาก ต้นศตวรรษที่ 17 ไม่มีชาวอังกฤษคนไหนบริโภคน้ำตาลเลย แต่ในศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษบริโภคน้ำตาลถึงปีละ 8 กิโลกรัม
น้ำตาลนั้นมาจากต้นอ้อย แต่การทำไร่อ้อยนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะต้องตากแดดแถมยังมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคมาเลเรียอีกด้วย หากจะยอมจ่ายเงินจ้างใครมาย่อมจะทำให้ต้นทุนสูงเกินไป
พ่อค้าหัวใสก็เลยพบทางออกด้วยการใช้แรงงานทาส
ในช่วงศตวรรษที่ 16-19 ชาวแอฟริกาถึง 10 ล้านคนถูกขายไปเป็นแรงงานทาสในอเมริกา โดย 70% ของคนเหล่านั้นถูกส่งมาทำงานในไร่อ้อย เรารู้กันดีอยู่แล้วว่าทาสเหล่านี้มีชีวิตที่แย่แค่ไหน ต้องถูกกดขี่ข่มเหงราวกับเขาไม่ใช่มนุษย์เพียงเพื่อให้คนยุโรปได้จิบชากาแฟที่ใส่น้ำตาล
การขายแรงงานทาสนี้ไม่ได้ถูกจัดระเบียบโดยรัฐบาลประเทศไหนเลย มันเป็นเรื่องทางการค้าล้วนๆ บริษัทค้าทาสมากมายขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ในกรุงลอนดอน ปารีส และอัมเสตอร์ดัม เพื่อนำเงินไปซื้อเรือ หาลูกเรือและทหาร จากนั้นจึงแล่นเรือไปซื้อทาสในแอฟริกา นำทาสไปขายให้กับเจ้าของสวนอ้อยในอเมริกา นำเงินนั้นไปซื้อน้ำตาล เมล็ดกาแฟ โกโก้ ยาสูบ แล้วนำกลับมาขายทำกำไรในยุโรปก่อนจะออกเรือใหม่อีกครั้ง ธุรกิจค้าทาสเป็นธุรกิจที่ทำกำไรดี และผู้ถือหุ้นบริษัทเหล่านี้จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 6%
นาซีและสงครามครูเสดฆ่าคนไปมากมายเพราะความเกลียดชัง แต่ทุนนิยมนั้นฆ่าคนไปมากมายเพราะความโลภและความเมินเฉย การค้าทาสไม่ได้เกิดจากการเหยียดสีผิวหรือความรังเกียจคนแอฟริกา จริงๆ แล้วเจ้าของไร่อ้อยแทบไม่เคยเจอทาสเหล่านี้ด้วยซ้ำเพราะเจ้าของไร่อ้อยส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในไร่อ้อย สิ่งเดียวที่เขาสนใจก็คือตัวเลขในบัญชีกำไรขาดทุน ส่วนผู้ถือหุ้นบริษัทค้าทาสก็เป็นชนชั้นกลางคล้ายๆ กับเราที่เป็นคนจิตใจดี ทำงานสุจริต ชอบฟังเพลง แถมยังใจบุญสุนทานอีกด้วย
นี่คือเหตุผลที่เราไม่ควรปล่อยให้ตลาดทำงานได้อย่างเสรีเกินไป เพราะตลาดไม่มีชีวิตจิตใจ สิ่งเดียวที่สำคัญสำหรับมันคือกำไรและ “การเติบโต” โดยไม่สนว่าระหว่างทางจะสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คนมากมายขนาดไหน
แล้วจะเอายังไง?
แม้นระบอบทุนนิยมจะมีข้อเสียมากมาย แต่ผู้สนับสนุนทุนนิยมก็มักจะให้เหตุผลแก้ต่างสองข้อ
ข้อแรกคือ สำหรับสังคมยุคโมเดิร์นมันยังเป็นระบอบเดียวที่เวิร์ค มนุษย์เคยทดลองอีกระบอบหนึ่งคือคอมมิวนิสต์ แต่มันก็สร้างความเสียหายมากเสียจนไม่มีใครอยากกลับไปใช้ระบอบนั้นอีก เราจึงไม่เหลือทางเลือกอื่นใดนอกจากเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุนนิยมให้เป็น
อีกข้อก็คือ ขอให้รออีกนิดนึง พายชิ้นนี้กำลังใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และแม้มันจะไม่สามารถทำให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันได้ แต่คนก็เชื่อว่าวันหนึ่งพายชิ้นนี้จะใหญ่พอที่จะตอบโจทย์ขั้นพื้นฐานสำหรับมนุษย์ทุกคน
ซึ่งจะว่าไปคำชี้แจงนี้ก็พอฟังขึ้นอยู่ อย่างน้อยก็ในเชิงปริมาณ เพราะเมื่อเทียบกับ 100 ปีที่แล้ว อายุขัยเฉลี่ยของเราเพิ่มขึ้น อัตราการตายของเด็กก็ลดลง ปริมาณอาหารที่เราบริโภคต่อหัวก็เยอะขึ้นแม้ว่าประชากรโลกจะสูงขึ้นมาหลายเท่าตัวก็ตาม
แต่เศรษฐกิจของเราจะโตไปได้นานแค่ไหน? เพราะพายทุกชิ้นจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบและพลังงาน มีผู้ทำนายว่าอีกไม่ช้ามนุษย์ก็จะใช้ทรัพยากรจนหมดโลก แล้วถึงวันนั้นเราจะอยู่กันอย่างไร?
ที่มาบทความ :https://anontawong.com