ตอนที่ 9 – มนตราของเงินตรา
Last updated
Last updated
ก่อนจะมีเงิน
สมัยที่ Sapiens ยังล่าสัตว์และเก็บพืชผลนั้น ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “เงิน” เพราะสังคมมนุษย์มีขนาดไม่ใหญ่มาก อาจจะประมาณแค่หลายสิบถึงหลักร้อยต้นๆ ทุก คนในกลุ่มจึงรู้จักกันหมด และการที่เขาจะหยิบยื่นอะไรบางอย่างให้อีกคนจึงเป็นเรื่องของน้ำใจและบุญคุณ ถ้าวันนี้ผมมีแอปเปิ้ลเหลือให้คุณ ตามมารยาทวันหน้าถ้าคุณมีแอปเปิ้ลเหลือคุณก็ต้องแบ่งให้ผมด้วย
อีกประเด็นหนึ่งของสังคมขนาดเล็กก็คือ ยังไม่เกิดสิ่งที่เรียกว่า specialization หรือความชำนาญทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เช่นแม้เผ่านี้จะเก็บแอปเปิ้ลเก่งเป็นพิเศษ แอปเปิ้ลที่เขาเก็บได้ก็ไม่ได้เยอะมากมายที่จะเอาไปแลกเปลี่ยนกับเผ่าอื่นได้ แถมเผ่าอื่นๆ ก็อยู่ไกลเกินกว่าจะมาแลกเปลี่ยนแอปเปิ้ลกันโดยง่าย
แต่การมาถึงของการปฏิวัตเกษตรกรรม ทำให้ขนาดสังคมใหญ่ขึ้นจนอาจจะมีหลักแสนหรือหลักหมื่น จนเราไม่อาจจะรู้จักทุกคนได้ ถ้าวันหนึ่งคุณมาขอแอปเปิ้ลกับผม ผมก็ไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าผมจะมีโอกาสได้แอปเปิ้ลคืนจากคุณในวันหน้าหรือไม่ การ “ให้เปล่า” โดยน้ำใจและมารยาทจึงค่อยๆ กลายมาเป็นกลายแลกเปลี่ยนอย่างช่วยไม่ได้
และเมื่อสังคมใหญ่ขึ้น “ตลาด” ก็เติบโตเพียงพอที่จะทำให้บางคน specialize หรือทำแต่ในสิ่งที่ตัวเองถนัด เช่นถ้าผมเก่งทำรองเท้าผมก็สามารถทำรองเท้าเพียงอย่างเดียวแล้วเอารองเท้านั้นไปแลกกับอาหารและสิ่งจำเป็นอื่นๆ ได้
แต่การแลกเปลี่ยนสิ่งของแบบ barter นั้นมีปัญหาเสมอ สมมติผมเป็นคนทำสวนแอปเปิ้ลที่ขยันมากจนรองเท้าพัง ผมขนแอปเปิ้ลของผมไปเพื่อที่จะเอาไปเป็นค่าตอบแทนช่างทำรองเท้า ช่างทำรองเท้าจะรู้ได้อย่างไรว่าควรจะเอาแอปเปิ้ลจากผมกี่ลูก? เพราะแม้เขาจะเคยเก็บเป็นค่าแอปเปิ้ล 50 ลูกกับรองเท้าคู่หนึ่งแต่นั่นก็เป็นรองเท้าของผู้หญิงไม่ใช่รองเท้าบู๊ทผู้ชาย แถมแอปเปิ้ลคราวนั้นก็คนละพันธุ์ แล้วถ้าสมมติช่างทำรองเท้าไม่ได้อยากกินแอปเปิ้ลแต่อยากฟ้องหย่าจะทำยังไง? คนปลูกแอปเปิ้ลจะต้องไปตามหาทนายที่อยากกินแอปเปิ้ลเพื่อให้เขามาทำเรื่องหย่าให้ช่างทำรองเท้าอย่างนั้นหรือ?
การจะนำสิ่งของมาแลกเปลี่ยนกันได้ คนจำเป็นต้องรู้อัตราแลกเปลี่ยนของของสองสิ่งนั้น เช่นแอปเปิ้ล 40 ลูกเท่ากับรองเท้าผู้หญิง 1 คู่ รองเท้าผู้หญิง 10 คู่เท่ากับการฟ้องหย่าหนึ่งครั้ง การฟ้องหย่าหนึ่งครั้งเท่ากับแอปเปิ้ล 400 ลูก ฯลฯ
ถ้าสิ่งของที่แลกเปลี่ยนในสังคมนั้นมีทั้งหมด 100 ชิ้น คนจะต้องรู้อัตราแลกเปลี่ยนถึง 4950 อัตรา และถ้าสิ่งของมี 1000 ชิ้น จะต้องมีอัตราแลกเปลี่ยนถึง 499,500 อัตรา!* ดังนั้นการแลกเปลี่ยนสิ่งของแบบ barter ในสังคมใหญ่จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย และนี่คือเหตุผลที่สังคมจะต้องมี “ตัวกลาง” อะไรซักอย่างเพื่อให้การแลกเปลี่ยนสิ่งของเกิดขึ้นได้จริง
เงินคืออะไร
เงินไม่ใช่เหรียญกษาปณ์หรือธนบัตร แต่เงินคืออะไรก็ตามที่คนตกลงร่วมใช้เพื่อเป็นการบอกมูลค่าของสิ่งๆ หนึ่งเพื่อให้เอื้อต่อการค้าขาย
เงินจึงไม่ใช่สิ่งของ แต่เป็นเพียง “เรื่องสมมติ” ที่ทุกคนยึดถือร่วมกันเท่านั้น
ก่อนหน้าที่จะมีการทำเหรียญกษาปณ์ มนุษย์ก็ได้เลือกของบางสิ่งขึ้นมาใช้เป็นเงินมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นหอยเบี้ย วัว เกลือ ลูกปัด หรือผ้า
โดยยุคแรกอๆ นั้น คนยังไม่กล้าใช้ของอย่างหอยเบี้ย เพราะโดยตัวมันเองไม่มีคุณค่าใด ๆ กินก็ไม่ได้ เอาไปทำอาวุธก็ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เป็นเงินในตอนแรกคือของที่มีคุณค่าในตัวมันเอง (inherent value) อย่างเช่นเมล็ดข้าวบาร์เลย์ที่เอาไปเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้จริงๆ โดยชาวสุเมเรียนเมื่อ 3000 ปีเริ่มใช้ข้าวบาร์เล่ย์เป็น “เงิน”
แต่ปัญหาของข้าวบาร์เลย์ก็คือคนที่ได้ต้องสร้างที่เก็บ แถมมันยังเสียหายได้ง่ายจากหนูหรือไฟไหม้ เวลาจะขนไปไหนมาไหนก็ลำบาก คนจึงเริ่มหันมาใช้วัตถุอย่างอื่นที่อาจจะกินไม่ได้ แต่สามารถจะเก็บและเคลื่อนย้ายได้ง่ายกว่ามาก
ถ้าใครได้อ่านตอนที่ 5 อาจจะจำได้ว่าในสมัยของกษัตริย์ฮัมมูราบี ที่ระบุว่าการทำผิดแต่ละอย่างจะโดนค่าปรับเป็น silver shikels โดยชีเกลในที่นี้ไม่ใช่เหรียญแต่เป็นนำหนักของ silver (ผมขอใช้คำว่าซิลเวอร์แทนคำว่าเงินเพื่อจะได้ไม่สับสนกับคำว่า money) โดยหนึ่งชีเกลเท่ากับ 8.33 กรัม
ถ้าผมเป็นชายชั้นสูงและฆ่าทาสผู้หญิงผมต้องจ่ายค่าปรับ 20 ชีเกลซึ่งก็เท่ากับซิลเวอร์ 166.6 กรัมนั่นเอง
แต่การใช้เงินแบบชีเกลก็มีข้อยุ่งยากอยู่สองข้อ คือทุกครั้งที่จะใช้ก็ต้องมานั่งชั่งน้ำหนัก แถมเราจะรู้ได้อย่างไรว่าซิลเอร์ที่นำมามันเป็นซิลเวอร์แท้ ไม่ใช่ตะกั่วที่เคลือบด้วยซิลเวอร์?
ปัญหานี้หมดไปเมื่อแคว้นลิเดียในนคร Anatolia คิดค้นเหรียญกษาปณ์ขึ้นมาเมื่อ 630 ปีก่อนคริสตกาล (ประมาณสิบกว่าปีก่อนพระพุทธเจ้าประสูติ – Anatolia คือตุรกีในปัจจุบัน) โดยด้านหนึ่งของเหรียญจะบ่งบอกมูลค่า และอีกด้านหนึ่งจะมีสัญลักษณ์ของกษัตริย์เพื่อเป็นการันตีว่าเหรียญนี้ทำจากเงินแท้เชื่อถือได้ และแม้เวลาจะล่วงเลยไปสองพันหกร้อยกว่าปีแล้ว แต่รูปแบบของเหรียญกษาปณ์ลิเดียนี้ก็ยังตกทอดมาถึงเหรียญกษาปณ์ที่เราใช้กันในปัจจุบัน (ด้านหนึ่งระบุมูลค่า อีกด้านหนึ่งระบุผู้มีอำนาจในการผลิตเหรียญ)
ชาวยุโรปและชาวตะวันออกกลางริเริ่มใช้เหรียญกษาปณ์นี้และเผยแพร่มันออกไปทั่วโลกไม่เว้นแม้กระทั่งตะวันออกไกลอย่างประเทศจีน เพียงไม่นานคนทั้งโลกก็หันมาให้คุณค่ากับ silver และ gold และสร้างระบบเศรษฐกิจโลกที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ถ้าปราศจากเงิน การค้าขายข้ามดินแดนจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย
อีเกร็ดความรู้หนึ่งอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในโลกปัจจุบันมีเงินไหลเวียนอยู่ถึง $60 trillion (60 ล้านล้านดอลล่าร์) แต่มูลค่าของเหรียญและธนบัตรทั่วโลกนั้นรวมกันแล้วแค่ $6 trillion หรือ 10% ของเงินเท่านั้น อีก 90% เป็นเพียงตัวเลขในคอมพิวเตอร์เท่านั้น
ไม่มีใครปฏิเสธเงิน เราต้องการเงินเพราะเราเชื่อว่าคนอื่นต้องการเงินนั้นเช่นกัน เงินจึงเป็นระบบความเชื่อใจกัน (mutual trust system) ที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมา การมีอยู่ของเงินทำให้คนแปลกหน้าสามารถทำงานร่วมกันได้ (enable strangers to cooperate)
แต่เพราะว่าเงินป็นเพียงไม่ได้มีตัวตนอย่างแท้จริง เป็นเพียง “สิ่งปลูกสร้างในจินตนาการมนุษย์” (psychological construct in our collective imagination) ที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นเป็นพื้นฐาน มูลค่าของเงินจึงผูกติดกับการเมืองอย่างแยกไม่ออก เมื่อใดก็ตามที่บ้านเมืองมีปัญหาจนความเชื่อมั่นสั่นคลอน มูลค่าของเงินก็จะถูกกระทบไปด้วยเช่นกัน (ดูอย่างเวเนซูเอล่าที่มีอัตราเงินเฟ้อถึง 800% ในปีที่ผ่านมา แค่คิดภาพว่ามาม่าราคาซองละ 50 บาทก็หนาวแล้ว)
เงินยังมีส่วนในการกัดกร่อน “คุณค่าความเป็นมนุษย์” อีกด้วย ในสังคมโบราณเราเชื่อกันว่ายังมีหลายสิ่งที่ไม่อาจซื้อขายกันได้ เช่นความรักของพ่อกับแม่ที่มีให้ลูก หรือความจงรักภักดีของอัศวินที่มีต่อเจ้านาย แต่แล้วพ่อแม่บางคนถึงกับยอมขายลูกไปเป็นทาสเพื่อจะได้มีเงินมาจุนเจือครอบครัว และอัศวินหลายคนก็พร้อมที่จะหันไปรับใช้เจ้านายที่ยินดีจะจ่ายเงินก้อนโตที่สุด
และแม้เงินจะช่วยให้เราสามารถทำงานร่วมกับคนแปลกหน้าได้ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ได้เชื่อใจคนแปลกหน้า เราเชื่อใจเงินที่คนคนนั้นถือต่างหาก เมื่อใดที่คนนั้นไม่มีเงิน ความเชื่อใจเราก็หมดไปเช่นกัน
และนี่คือบทบาทของเงินต่อมนุษยชาติ
แต่นอกจาก “เงิน” และ “ทอง” แล้ว เหล็กกล้า (ที่มาทำเป็นอาวุธ) ก็มีบทบาทสำคัญไม่แพ้กัน
ในตอนหน้าเราจะมาดูกันครับว่าราชอาณาจักรและการก่อสงครามมีผลต่อการหลอมรวมโลกใบนี้อย่างไรบ้าง
ของ 1000 ชิ้นเท่ากับ 499500 อัตราแลกเปลี่ยน – ใครที่เคยเรียนเลขเรื่อง nCr จะเข้าใจว่ามันคือ 1000c2 หรือ 1000!/(998!2!)
ที่มาบทความ :https://anontawong.com