ตอนที่ 19 – สุขสมบ่มิสม
Last updated
Last updated
500 ปีที่ผ่านมา การปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้สร้างความก้าวหน้าให้มนุษย์ในอัตราเร่งยิ่งกว่ายุคใดๆ
เรามีเครื่องไม้เครื่องมือมากมาย เรามีแหล่งพลังงานที่ไม่จำกัด (นิวเคลียร์และแสงอาทิตย์) และชีวิตของพวกเราก็เปลี่ยนไปจนแทบจำไม่ได้
แต่ความก้าวหน้าเหล่านั้นมันได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นรึเปล่า?
นายนีล อาร์มสตรองที่ทิ้งรอยเท้าไว้บนดวงจันทร์ มีความสุขกว่าหญิงสาวนิรนามที่ทิ้งรอยฝ่ามือไว้ในถ้ำ Chauvet Cave เมื่อ 30,000 ปีที่แล้วหรือไม่?
หลายคนเชื่อว่า เมื่อมนุษย์เรามีความสามารถมากขึ้น เราก็จะนำความสามารถนั้นมาบรรเทาความทุกข์ร้อน ดังนั้นมนุษย์ควรจะมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่แนวคิดนี้ก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป เพราะแม้การพัฒนาจะทำให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพชีวิตในระดับปัจเจกจะดีขึ้น เหมือนอย่างที่เราได้เห็นแล้วว่าชีวิตของชาวนาหลังการปฏิวัติเกษตรกรรมนั้นต้องตรากตรำและเหน็ดเหนื่อยกว่าชีวิตของเหล่าบรรพบุรุษในยุคเข้าป่าเก็บพืชผลมากมายนัก
แต่ถ้าจะมองในช่วงไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา ชีวิตของคนเราก็อาจจะดีขึ้นจริงๆ เพราะเรามีสงครามข้ามชาติน้อยลง ความรู้เรื่องการแพทย์ของเราก็พัฒนาไปมาก อัตราการตายของทารกก็ต่ำ และการล้มตายเพราะความหิวโหยนั้นเป็นเรื่องที่แทบจะไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว
แต่มุมมองอย่างนี้ก็มีช่องโหว่อยู่อย่างน้อยสามประการ
ประการแรกคือ ข้อดีที่กล่าวมานั้นเพิ่งเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี่เอง มนุษย์เพิ่งได้รับประโยชน์จากความรู้ด้านยารักษาโรคจริงๆ เมื่อ 150 ปีที่แล้ว อัตราการตายของเด็กทารกเพิ่งลดลงในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ความอดอยากครั้งสุดท้ายก็เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีที่แล้ว เมื่อนโยบายก้าวกระโดด (Great Leap Forward) ของจีนทำให้คนล้มตายไปไปหลายสิบล้าน และสงครามระหว่างนานาประเทศเพิ่งจะยุติหลังการมาของอาวุธนิวเคลียร์เมื่อ 70 ปีที่แล้วเท่านั้นเอง เมื่อเทียบปรากฎการณ์เหล่านี้กับระยะเวลาร่วม 70,000 ปีนับตั้งแต่ Homo Sapiens เดินทางออกจากแอฟริกา จึงถือเป็นการสุ่มตัวอย่างที่เข้าข้างตัวเองไปหน่อย
ประการที่สอง “ความรุ่งเรือง” ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาอาจเป็นเพียงการจุดระเบิดเวลา ลัทธิบริโภคนิยมได้ทำให้ธรรมชาติเสื่อมโทรมลงไปมากเสียจนธรรรมชาติอาจมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้ก็ได้
ประการสุดท้าย หากจะวัดความสุข เราควรจะวัดความสุขของสัตว์อื่นๆ บนโลกใบนี้ด้วยรึเปล่า? แม้คุณภาพชีวิตของมนุษย์จะดีขึ้น แต่คุณภาพชีวิตของปศุสัตว์อย่างวัว ไก่ และหมู กลับตกต่ำอย่างน่าใจหาย ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมาปศุสัตว์นับหมื่นล้านตัวถูกทารุณกรรมในระดับที่บรรพบุรุษของมันไม่เคยพบเจอ สุดท้ายแล้วอุตสาหกรรมอาหารอาจเป็นอาชญากรรมที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ก็ได้
ดัชนีความสุข
เนื่องจากความสุขเป็นเรื่องที่รู้ได้เฉพาะตน นักวิจัยจึงวัดความสุขของคนด้วยการแจกแบบสอบถามที่มีคำถามอย่าง “ฉันพอใจกับชีวิตของฉันตอนนี้” หรือ “ฉันรู้สึกว่าอนาคตยังมีสิ่งดีๆ รออยู่” แล้วให้แต่ละคนช่วยให้คะแนนว่าเห็นด้วยกับประโยคเหล่านี้มากน้อยแค่ไหน
สิ่งที่นักวิจัยค้นพบมีดังนี้
หนึ่ง คือเงินซื้อความสุขได้ แต่ก็ถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น ถ้าสาวโรงงานลูกติดเงินเดือน 8000 บาทถูกล็อตเตอรี่ 5 ล้านบาทจนมีเงินชำระหนี้ ส่งค่าเทอมลูก และมีเงินทุนที่จะทำธุรกิจเองได้ ความสุขของเธอในระยะยาวย่อมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
แต่สำหรับผู้บริหารระดับสูงที่เงินเดือน 300,000 บาทที่มีทุกอย่างพร้อมอยู่แล้ว แม้จะถูกหวย 10 ล้านบาท ความสุขของเขาจะเพิ่มขึ้นแค่ชั่วคราว อย่างมากก็แค่ขับรถราคาแพงขึ้นหรือย้ายไปอยู่บ้านหลังใหญ่ขึ้น แต่สุดท้ายเขาก็จะเคยชินกับมันอยู่ดี
สอง คือความเจ็บป่วยจะทำให้ความสุขลดลงเพียงชั่วคราว เว้นเสียแต่ว่าอาการเจ็บป่วยนั้นจะแย่ลงเรื่อยๆ หรือนำมาซึ่งความเจ็บปวดทางร่างกายอยู่ตลอดเวลา คนที่พบว่าตัวเองเป็นเบาหวาน (ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง) อาจจะรู้สึกหงุดหงิดในช่วงแรกที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ไม่นานเขาก็จะปรับตัวได้และมีความสุขพอๆ กับคนสุขภาพดี
สาม นักวิจัยพบว่าความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวหรือในชุมชนมีความสำคัญต่อความสุขมากกว่าเงินหรือสุขภาพ คนพิการที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่นและดูแลเขาเป็นอย่างดีอาจมีความสุขกว่าเศรษฐีพันล้านผู้โดดเดี่ยวก็ได้
นั่นอาจหมายความว่า ความสุขที่เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงสองสามร้อยปีที่ผ่านมา อาจถูกคานด้วยความทุกข์อันเกิดจากสภาวะบ้านแตกสาแหรกขาดเมื่อความเหนียวแน่นในครอบครัวถูกทำลายด้วยแรงขับแห่งทุนนิยมที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวไม่ได้อยู่ร่วมกัน นายสมศักดิ์ในวันนี้จึงอาจไม่ได้มีความสุขไปกว่าปู่ของปู่ของเขาที่มีชีวิตอยู่เมื่อ 200 ปีที่แล้ว
สี่ – ซึ่งเป็นข้อที่สำคัญที่สุด – คือจริงๆ แล้วความสุขนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับระดับความรวย ความแข็งแรง หรือแม้กระทั่งชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ แต่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างสภาพความเป็นจริงกับความคาดหวังของคนๆ นั้น (correlation between objective conditions and subjective expectations)
หากความฝันของผมคือการได้ขี่มอเตอร์ไซค์ซูซูกิแล้วผมได้มันมาขี่จริงๆ ผมก็มีความสุขแล้ว แต่ถ้าผมขับเบนซ์ผมอาจไม่มีความสุขก็ได้หากจริงๆ แล้วผมอยากขับเฟอรารี่มากกว่า
เมื่อการวัดความสุขไม่ใช่เรื่องภววิสัย (objective) แต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องอัตวิสัย (subjective) ด้วย การเปรียบเทียบความสุขของคนสมัยนี้กับคนสมัยก่อนจึงยากขึ้นไปอีก เพราะแม้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราจะดีกว่าแต่ก่อนมาก แต่ความคาดหวังของเราก็สูงขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
จะว่าไปแล้วคนสมัยนี้น่าจะมี “ภูมิต้านทานความยากลำบาก” น้อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ มากมายนัก ดังนั้นคนรุ่นเราแค่เจอความไม่สะดวกนิดๆ หน่อยๆ ก็พร้อมจะทุกข์ใจได้แล้ว
ถ้าสมการความสุขนั้นมีความคาดหวังเป็นตัวแปรสำคัญ สองเสาหลักของโลกทุนนิยมอย่างสื่อสารมวลชนและโฆษณาก็อาจจะกำลังทำให้คนเรามีความสุขน้อยลงไปทุกที
ถ้าคุณเป็นเด็กหนุ่มนมแตกพานที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเมื่อ 5000 ปีที่แล้ว คุณอาจจะคิดว่าคุณเป็นคนหน้าตาดี เพราะคนอื่นๆ ในหมู่บ้านต่างก็หน้าตาธรรมดา หรือไม่ก็แก่ หรือไม่ก็เด็กเกินไป
แต่ถ้าคุณเป็นเด็กหนุ่มนมแตกพานในสมัยนี้ ต่อให้เพื่อนๆ ที่โรงเรียนจะหล่อสู้คุณไม่ได้ คุณก็อาจจะยังรู้สึกว่าตัวเองหน้าตาไม่หล่ออยู่ดี เพราะคุณเอาตัวเองไปเทียบกับดารานักร้องที่เห็นในทีวีและอินสตาแกรม
ความไม่พอใจของผู้คนในประเทศโลกที่ 3 จึงอาจไม่ได้เกิดจากความยากจนหรือการคอรัปชั่นแต่เพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการที่เขาเทียบคุณภาพชีวิตของตัวเองกับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศโลกที่ 1 ด้วย
คนชั้นกลางในประเทศอียิปต์ในปี 2011 มีชีวิตที่ดีกว่าแต่สมัยฟาโรห์หรือคลีโอพัตรามากแต่พวกเขาก็ยังลุกขึ้นมาโค่นอำนาจนาย Hosni Mubarak อยู่ดี เพราะว่าพวกเขาไม่ได้เปรียบเทียบตัวเองกับบรรพบุรุษ แต่เปรียบเทียบตัวเองกับชนชั้นกลางในอเมริกา
เมื่อคนเราช่างเปรียบเทียบเช่นนี้แล้ว แม้กระทั่งชีวิตที่อมตะก็อาจจะไม่ได้ทำให้โลกนี้มีความสุขมากขึ้นก็ได้
ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะยากดีมีจนเท่าไหร่ อย่างน้อยทุกคนก็ยังรู้สึกว่าความตายนั้นเท่าเทียมเสมอ เพราะไม่ว่าคุณจะมีอำนาจหรือร่ำรวยมหาศาลเพียงใด สุดท้ายทุกคนก็ต้องตาย
แต่หากวันหนึ่งนักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีการรักษาโรคได้ทุกชนิด และหาวิธีคงความหนุ่มสาวให้กับมนุษย์ได้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความโกรธแค้นของคนชั้นล่างที่ไม่อาจเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ เพราะมันคงไม่แฟร์สุดๆ ที่มนุษย์บางคนจะได้อยู่ตลอดไปเพียงเพราะเขามีเงิน ส่วนคนจนนั้นถูกปล่อยให้ป่วยหรือแก่ตาย
และสำหรับชนชั้นสูง ปัญหาก็ใช่ว่าจะจบ เพราะแม้จะไม่แก่และไม่เจ็บป่วย แต่คุณก็อาจจะยังตายจากอุบัติเหตุได้อยู่ดี คุณจะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรเลยเพราะเดิมพันสูงเกินไป และหากมีคนในครอบครัวต้องตายไปจากเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ความเจ็บปวดก็ยิ่งทบเท่าทวีคูณ
ความสุขจากสารเคมี
นักสังคมศาสตร์อาจวัดความสุขโดยดูจากปัจจัยทางเศรษฐกิจและความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง แต่นักชีววิทยาจะดูปัจจัยจากอีกมุมหนึ่ง นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายและสมอง
นักชีววิทยาจะบอกว่า อารมณ์ความรู้สึกของคนเรานั้นถูกกำกับด้วยชีวเคมีในร่างกาย ความสุขของคนเราจึงไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายนอกนอกอย่างเงินเดือนหรือชื่อเสียง แต่เกิดจากกลไกการทำงานของนิวรอน (neurons) ช่องว่างระหว่างเซลล์ประสาท (synapses) และสารชีวเคมีอย่างเซโรโทนิน โดพามีน และออกซิโทซิน (serotonin, dopamine, oxytocin) ต่างหาก
ในเชิงชีววิทยาแล้ว คนเราจึงไม่ได้มีความสุขจากการถูกล็อตเตอรี่หรือได้รับการเลื่อนขั้น ความสุขนั้นเกิดจากเหตุผลเดียวเท่านั้น นั่นคือความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นในร่างกายเรา
เวลาที่คนเรากระโดดโลดเต้นเมื่อถูกหวย จริงๆ แล้วเราเพียงมีปฏิกิริยาตอบสนองการสูบฉีดของฮอร์โมนในร่างกายและพายุประจุไฟฟ้าในสมองต่างหาก แต่สภาวะเหล่านี้จะเกิดขึ้นเพียงประเดี๋ยวประด๋าวเท่านั้น ไม่นานฮอร์โมนก็จะหยุดพลุ่งพล่านและประจุไฟฟ้าก็ย่อมสงบลง
นักวิจัยบางกลุ่มตั้งสมมติฐานว่าระดับความสุขของคนเรานั้นถูกกำหนดมาแต่กำเนิด คนบางคนอาจเกิดมาพร้อมชีวเคมีที่ทำให้เขามีระดับความสุขอยู่ระหว่าง 6-10 คะแนนโดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8 เต็ม 10 ขณะที่คนบางคนอาจมีระดับความสุขอยู่ระหว่าง 3-7 คะแนนและมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 5 เต็ม 10
ลองนึกภาพคนที่เรารู้จักก็ได้ คนบางคนหน้าบึ้งตึงตลอดเวลา ต่อให้คนๆ นี้ถูกหวยหรือได้เลื่อนขั้น เขาก็มีความสุขได้แค่ 7 เต็ม 10 เท่านั้น ขณะที่บางคนดูเหมือนจะหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลา แม้ว่าขายหุ้นขาดทุนเขาก็ดูไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรมาก
เมื่อระดับความสุขของคนเราถูกกำหนดโดยชีวเคมี ต่อให้เราสมปรารถนาเพียงใด ได้ซื้อรถใหม่ ได้แต่งงาน ได้มีลูก ขีดความสุขอาจเพิ่มขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว สุดท้ายระดับของความสุขจะกลับไปที่ค่าเฉลี่ยของเราอยู่ดี
แต่ก็ใช่ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่มีความหมายเสียทีเดียว เพราะถ้าตัวคุณมีระดับของความสุขอยู่ระหว่าง 3-7 คะแนน การมีคู่ครองที่ดีก็อาจทำให้คุณมีความสุขอยู่ที่ 6/10 ไปได้นานๆ แต่หากคุณได้คู่ครองที่ไม่เหมาะสม ระดับความสุขก็อาจจะอยู่ที่ 3/10 ไปอีกแสนนานเช่นกัน
ถ้าเรายึดทฤษฎีความสุขของนักชีววิทยา นั่นก็แสดงว่าการพัฒนาต่างๆ ที่ผ่านมาของนุษย์ไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น เพราะแม้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ก็แทบไม่มีผลกับระดับชีวเคมีในตัวของแต่ละคนเลย ถ้าคุณอยากมีความสุขขึ้นจริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องปฏิรูปหรือกระตุ้นเศรษฐกินอะไร แค่ให้กินยากระตุ้นฮอร์โมนหรือกระตุ้นการหลั่งสารอย่าเซโรโทนินก็พอแล้วรึเปล่า
ความหมายของชีวิต
แต่ถ้าความสุขเกิดจากเพียง “ความรู้สึกดีๆ ในร่างกาย” แต่เพียงอย่างเดียว ทำไมพ่อแม่ถึงยังอยากจะมีลูก? เพราะการเลี้ยงลูกนั้นต้องเจอแต่ความรู้สึกไม่ดีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการอดหลับอดนอน การเปลี่ยนผ้าอ้อมที่เหม็นฉึ่ง การรับมือเวลาลูกงอแง แต่พอถามคนเป็นพ่อเป็นแม่ ก็มักจะตอบว่าลูกคือหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เขามีความสุขที่สุด
หรือจริงๆ แล้วความสุขไม่ใช่เพียงสมการง่ายๆ ที่เอาความรู้สึกดีๆ ตั้งและลบด้วยความรู้สึกไม่ดี แต่เป็นการรู้สึกว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้มีคุณค่าและมีความหมาย
ความเชื่อและวิธีคิดจึงมีผลอย่างมากว่าเราจะมองการเลี้ยงลูกอย่างไร ระหว่างการ “เป็นทาสให้กับลูกจอมเผด็จการ” หรือ “การเลี้ยงดูชีวิตใหม่ด้วยความรัก”
เหมือนดังที่นิทเช่ นักปรัชญาชื่อดังได้กล่าวไว้ “ถ้าคุณเชื่อมั่นในเหตุผล คุณจะทนรับกับทุกสถานการณ์ได้” (if you have a why, you can bear almost any how) ชีวิตที่ลำบากแต่มีความหมายอาจนำพามาซึ่งความสุขได้ และชีวิตที่แสนสบายแต่ไร้คุณค่าก็อาจจะนำพาซึ่งความทุกข์ได้เช่นกัน
ดังนั้น แม้คนในยุคกลางจะไม่ได้มีสุขสบายเหมือนคนในสมัยนี้ แต่ถ้าเขาเชื่อในเรื่องความสุขนิรันดร์กาลในปรโลก คนๆ นั้นก็อาจจะมีความสุขกว่าคนยุคใหม่ที่ไม่ได้เชื่อว่าชีวิตมีแก่นสารอะไร แค่เกิดมาใช้ชีวิตเพื่อรอวันตายและรอวันถูกลืมเท่านั้น
เราอาจจะรู้สึกว่าคนในยุคกลางที่เชื่อในปรโลกกำลังหลอกตัวเองอยู่รึเปล่า? ซึ่งคำตอบก็คือใช่ และมันก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร ตราบใดที่ความเชื่อนั้นทำให้ชีวิตเขามีความสุขและทำให้ชีวิตเขามีความหมาย
เพราะหากมองในเชิงชีววิทยาแล้ว สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์นั้นไม่ได้มีความหมายพิเศษใดๆ เลย ถ้าพรุ่งนี้โลกจะแตกไป จักรวาลก็จะยังคงอยู่ต่อไปโดยไม่ทุกข์ร้อนใดๆ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นยาใหม่ๆ หรือเป็นทหารที่ปกป้องแผ่นดินแม่ ต่างก็ต้องยึดมั่นกับความเชื่อหรือความหมายอะไรบางอย่างไม่ต่างอะไรกับคนยุคกลางที่เชื่อในเรื่องความสุขในปรโลก
ฟังแล้วก็เครียดเหมือนกัน สุดท้ายแล้วความสุขขึ้นอยู่กับการหลอกตัวเองว่าชีวิตมีความหมายอย่างนั้นหรือ?
รู้จักตัวเอง ยุคนี้คือยุคที่ความคิดแนวเสรีนิยม (liberalism) กำลังเฟื่องฟู แนวคิดนี้บอกว่าเราเองเท่านั้นที่รู้ดีที่สุดว่าอะไรนำความสุขมาให้ เราจึงได้ยินเสียงพร่ำสอนว่าให้ทำไปเลย! (Just do it!) หรือจงตามเสียงของหัวใจ (Follow your passion)
แต่แนวคิดนี้ขัดแย้งกับศาสนาหลักๆ หลายศาสนา ที่บอกว่าจักรวาลก็มีกฎเกณฑ์ด้านศีลธรรมอยู่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรเอาความรู้สึกของตัวเองเป็นไม้บรรทัด เพราะมนุษย์นั้นมีบาปติดตัวมาแต่กำเนิด จึงอาจตกเป็นทาสของซาตานเมื่อไหร่ก็ได้หากปล่อยตัวปล่อยใจทำตามทุกสิ่งที่ตัวเองต้องการ
แม้กระทั่งดาร์วินก็ยังพูดถึงทฤษฏี “ยีนเห็นแก่ตัว” (selfish gene) ที่มีสมมติฐานว่าดีเอนเอจะกำกับให้มนุษย์ทำอะไรก็แล้วแต่เพื่อเพิ่มโอกาสในการสืบสายพันธุ์แม้ว่ามันอาจเป็นโทษต่อตัวคนๆ นั้นหรือคนอื่นๆ ก็ตามที
หลายศาสนาจึงมีแนวทางตรงกันข้ามกับแนวคิดเสรีนิยม โดยเฉพาะศาสนาพุทธที่ศึกษาเรื่องความสุขมากกว่าศาสนาใดในโลกนี้
พระพุทธเจ้ามีความเห็นตรงกับนักชีววิทยาที่ว่า ความสุขนั้นเกิดจากความรู้สึกในร่างกาย แต่บทสรุปของพระองค์นั้นกลับต่างออกไป
ศาสนาพุทธสอนว่าคนทั่วไปจะมองว่าความรู้สึกดีๆ ในร่างกายคือความสุข ส่วนความรู้สึกที่ไม่ดีคือความทุกข์ ดังนั้นคนเราจึงโหยหาความรู้สึกดี และวิ่งหนีความรู้สึกที่ไม่ดี
แต่ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดก็แล้วแต่ ก็ล้วนเกิดขึ้นชั่วคราวและหมดไปทั้งนั้น การวิ่งตามหาความรู้สึกสุขจึงเป็นเรื่องไม่มีวันจบ เพราะแม้ว่าจะสมหวังแต่ความสุขนั้นก็จะหมดไปในไม่ช้า ทำให้เราต้องวิ่งตามหาความสุขอยู่ร่ำไป
คนเราจะหมดทุกข์ได้ไม่ใช่เพราะว่ามีแต่ความรู้สึกดีๆ ตลอดเวลา แต่จะหมดทุกข์ก็ต่อเมื่อเข้าใจถึงความไม่แน่นอนของความรู้สึกเหล่านี้ และการทำวิปัสสนาก็คือเทคนิคที่จะทำให้เข้าใจถึงความจริงข้อนี้ โดยผู้ปฏิบัติจะคอยสังเกตความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามร่างกาย เพื่อให้เห็นถึงการเกิดขึ้นและดับไปถึงความรู้สึกนั้นๆ และเข้าใจว่าการตามหาความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเรื่องไร้ความหมาย
เมื่อเราหยุดตามหา จิตใจก็จะหยุดดิ้นรน และผู้ปฏิบัติก็จะได้พบกับความสุขความสงบที่แท้จริง
ถ้าสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนนั้นถูกต้อง ความเข้าใจเรื่องความสุขของนักสังคมศาสตร์หรือนักชีววิทยาก็อาจจะคลาดเคลื่อน เพราะความสุขไม่ได้มาจากการได้ในสิ่งที่หวังหรือการได้มีความรู้สึกดีๆ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจความจริงในตัวเรามากน้อยเพียงใดต่างหาก
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เราก็แทบไม่มีหลักฐานอะไรมายืนยันเลยว่าคนเราในยุคนี้มีความสุขกว่ามนุษย์ยุคหินบ้างรึเปล่า
ที่มาบทความ :https://anontawong.com