[สรุป] โฮโม เซเปียนส์ สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่
Last updated
Last updated
เพราะสิ่งมีชีวิตที่จะเถียงออกมาเป็นภาษาคนได้ น่าจะมีแต่มนุษย์เท่านั้น ในความเป็นจริง มนุษย์ แมว (โดยเฉพาะแมวบ้าน) และแมลงสาบ น่าจะถือได้ว่าเป็นสัตว์มหัศจรรย์ทั้งนั้น เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตสามอย่างที่แพร่หลายกระจายตัวอยู่ได้ทั่วทั้งโลก ไม่ใช่แค่ในเมือง แต่อยู่ได้ในชนบทด้วย พบพานได้ตั้งแต่ภูมิภาคที่เย็นจัดอย่างขั้วโลก ไล่ไปจนถึงภูเขา ที่ราบ ป่าทุกประเภท และแม้กระทั่งทะเลทราย
แต่เราจะไม่พูดถึงแมวบ้านและแมลงสาบในที่นี้ เพราะเราอยากชวนคุณมาดูว่า โฮโม เซเปียนส์ หรือ มนุษย์ยุคปัจจุบัน ผู้เป็นได้ชื่อว่าเป็นสัตว์อัศจรรย์นั้น มี ‘อู่’ หรือจุดเริ่มต้นที่ไหน เดินทางอย่างไร ถึงได้กระจายตัวไปทั่วโลก และสุดท้ายปลายทางแล้ว – มนุษย์, กำลังจะไปไหน
นักวิทยาศาสตร์พบว่า โฮโม เซเปียนส์วิวัฒนาการมาจากมนุษย์ไฮเดลแบร์ก หรือ Homo heidelbergensis ซึ่งวิวัฒนาการมาจากโฮโม อีเร็กตัสอีกต่อหนึ่ง โดยเราเป็นพี่น้องใกล้ชิดกับมนุษย์นีแอนเดอร์ธัลกับมนุษย์เดนิโซวานอย่างมาก เชื่อกันว่า การรู้จักใช้ไฟของมนุษย์ต้นแบบนี่เอง ทำให้เกิดการ ‘ก้าวกระโดด’ ของขนาดสมอง เพราะเราสามารถปรุงเนื้อให้สุกได้ และเนื้อที่สุกก็มีคุณค่าทางอาหารมากขึ้น รวมทั้งเก็บได้นานขึ้นด้วย สมองจึงค่อยๆ ขยายขนาด และในที่สุด โฮโม เซเปียนส์ก็อุบัติขึ้นมาบนพื้นโลก เมื่อราวๆ สองถึงสามแสนปีก่อน แต่กว่าจะมีพฤติกรรมและลักษณะแบบ ‘สมัยใหม่’ (Behavioral Modernity) เต็มที่ ก็เมื่อราวห้าหมื่นปีที่แล้วนี่เอง
โฮโม เซเปียนส์ (หรือมนุษย์ต้นแบบของโฮโม เซเปียนส์) ได้อพยพออกมาจากแอฟริกาเพื่อตามหา ‘ถิ่นที่อยู่’ ของตัวเองเป็นระลอกๆ มานานหลายแสนปีแล้ว มีการศึกษาพบกระดูกของโฮโม เซเปียนส์ อายุราว 270,000 ปี อยู่ในเอเชียตะวันตก และกระดูกอายุ 260,000 ปีในจีน ซึ่งแสดงว่าโฮโม เซเปียนส์ได้อพยพออกมาจากแอฟริกาตั้งแต่เริ่มอุบัติขึ้นมาไม่กี่หมื่นปีเลย
อย่างไรก็ตาม คาดกันว่า การอพยพในระลอกแรกๆ ไม่ประสบความสำเร็จยั่งยืนนัก ระลอกที่ประสบความสำเร็จที่สุด หรือที่เรียกว่า Out of Africa II เกิดขึ้นเมื่อราว 75,000 ปีที่แล้ว โดยมีการเดินทางออกมาผ่านคาบสมุทรอาหรับ แล้วกลุ่มแรกก็ ‘เลี้ยวขวา’ เดินทางเลียบมหาสมุทรไปสู่เอเชียใต้ กระจายไปสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และลงไปถึงออสเตรเลีย ส่วนที่ขึ้นเหนือก็ไปถึงเอเชียกลาง จีน และข้ามไปถึงอเมริกาเมื่อราว 50,000 ปีที่แล้ว ซึ่งก็คือช่วงเวลาเดียวกันกับที่อีกกลุ่มหนึ่ง ‘เลี้ยวซ้าย’ เข้าไปถึงยุโรป
ว่ากันว่า ความฉลาดของโฮโม เซเปียนส์ ทำให้เราไปเบียดขับมนุษย์ต้นแบบที่เคยไปถึงที่ต่างๆ ก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นเดนิโซวานในเอเชีย หรือนีแอนเดอร์ธัลในยุโรปด้วยวิธีต่างๆ (อาจเป็นไปได้ว่ารบกัน หรือไม่ก็กลายกลืนด้วยการผสมเผ่าพันธุ์กัน) จนในที่สุดมนุษย์ต้นแบบเหล่านี้ก็หายไปหมด เหลืออยู่แต่โฮโม เซเปียนส์เท่านั้น
โฮโมเซเปียนส์เป็นสัตว์มหัศจรรย์ อย่างหนึ่งก็เพราะเราไม่ได้มีเขี้ยวเล็บอะไรมากมายนัก ร่างกายก็ไม่ได้มีขนปกคลุม แต่มนุษย์กลับอยู่ได้ทุกหนทุกแห่งในโลก แถมยังครองโลกกว้างไกลกว่าที่สัตว์ใดๆ เคยครองด้วย จุดหัวเลี้ยวหัวต่ออยู่ที่เมื่อราว 10,000 ปีก่อน ที่ไหนสักแห่งในแถบตะวันออกกลาง มนุษย์ได้ปฏิวัติตัวเองเพื่อต่อกรกับสิ่งที่เรียกว่า Carrying Capacity โดยใช้เทคโนโลยี
เทคโนโลยีที่ว่า – ก็คือการเกษตร
มันคือการปฏิวัติที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ‘การปฏิวัตินีโอลิธิก’ (Neolithic Revolution) ซึ่งทำให้นักล่าหาอาหารและชนเผ่าเร่ร่อน มารวมตัวกันเป็น ‘ชุมชน’ ถาวรได้ และค่อยๆ พัฒนาขึ้นจนเกิดเป็นสังคมที่ซับซ้อนในภายหลัง ชุมชนที่นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเชื่อว่าอาจเป็นเหมือน ‘ชุมชนต้นแบบ’ คือสังคมของชาวนาทูเฟียน (Natufians) ซึ่งเฟื่องฟูในช่วง 14,500 ปีก่อน ถึงราว 11,500 ปีก่อน เป็นชุมชนที่อยู่ในตะวันออกกลาง ซึ่งปัจจุบันอยู่ในแถบไซปรัส ซีเรีย อิสราเอล จอร์แดน เลบานอน และปาเลสไตน์
ชาวนาทูเฟียนนี้ ถือว่าเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่เปลี่ยนตัวเองจากนักล่าหาอาหารมาเลี้ยงสัตว์ ทั้งสุนัขและหมู และอาจเป็นคนกลุ่มแรกๆ ด้วย ที่เริ่มเพาะปลูก โดยเปลี่ยนจากการตระเวนเก็บลูกไม้และล่าตัวกาเซลตามฤดูกาล มาปลูกข้าววีตและบาร์เลย์แบบโบราณ งานวิจัยหนึ่งของนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยในอังกฤษ ได้ลองขุดค้นฟันกรามของหนูในพื้นที่แถบนี้ แล้วนำมาตรวจดูอายุและปริมาณ พบเรื่องน่าสนใจมากอยู่เรื่องหนึ่ง
หนูในแถบนี้มีอยู่สองสปีชีส์ใหญ่ๆ คือหนูบ้าน (Mus domesticus) กับหนูป่ามาซีโดเนีย (Mus macedonicus) พบว่าในช่วงราว 200,000 ปีก่อน ฟันกรามที่เกือบทั้งหมดเป็นของหนูป่า แปลว่าในยุคโน้นมีหนูป่าอยู่มาก แต่พอถึงราว 15,000 ปีที่แล้ว ปรากฏว่าหนูบ้านเอาชนะหนูป่าได้ แต่แล้วหนูบ้านก็หดหายไปอีกในราว 13,000 ปีก่อน แล้วจากนั้นก็กลับมาชนะแบบถาวรได้เมื่อราว 10,000 ปีที่แล้ว ซึ่งสอดคล้องต้องกันพอดีกับยุคที่มนุษย์เริ่มตั้งรกรากเพื่อทำเกษตร และหนูบ้านก็เป็นหนูที่ ‘เข้ากันได้’ กับการอยู่ติดที่ด้วย
การที่หนูบ้านมีจำนวนขึ้นๆ ลงๆ ก่อนจะมีมากอย่างถาวร – แสดงให้เห็นว่า กว่ามนุษย์จะ ‘อยู่ติดที่’ ได้ ต้องใช้เวลาหลายหมื่นปีเพื่อเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต แต่สุดท้ายแล้ว การตั้งรกรากก็ได้เกิดขึ้น นักประวัติศาสตร์ภูมิทัศน์ (Landscape Historians) บอกว่าการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์นั้นแบ่งออกได้เป็นรูปแบบใหญ่ๆ หลายรูปแบบ แบบหนึ่งก็คือการตั้งถิ่นฐานแบกระจัดกระจาย หรือ Dispersed Settlement คือในพื้นที่หนึ่งๆ จะมีบ้านหรือที่ตั้งรกรากเกลื่อนกระจายทั่วไป เป็นรูปแบบที่พบได้มากในยุโรป โดยเฉพาะในชนบทอังกฤษ
ในอังกฤษ การตั้งชุมชนแบบกระจายตัวนี้ไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบเลยเป็นเวลานานหลายร้อยปี ในอิตาลีและในยุโรปแถบที่พูดภาษาเยอรมันก็เช่นเดียวกัน แม้ในปัจจุบันจะเกิด ‘เมือง’ ขึ้นแล้ว แต่ในยุโรปก็ยังมีการกระจายตัวแบบนี้อยู่มาก อีกรูปแบบการตั้งรกรากหนึ่งเรียกว่า การตั้งรกรากแบบกระจุกตัว หรือ Nucleated Settlement (หรือบางทีก็เรียกว่า Clustered Settlement) รูปแบบนี้เกิดขึ้นหลังรูปแบบกระจายตัว เนื่องจากเริ่มมีสิ่งยึดเหนี่ยวทางวัฒนธรรมมากขึ้น อิทธิพลหลักอย่างหนึ่งก็คือศาสนา เราจะเห็นรูปแบบการตั้งรกรากนี้ได้ชัดตามหมู่บ้านที่มีศูนย์กลางบางอย่าง เช่น มีโบสถ์หรือวัดเป็นจุดศูนย์กลาง หรือไม่ก็ในแถบที่มีการรบพุ่งกันบ่อยๆ คนจึงจำเป็นต้องอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม และสร้างป้อมปราการขึ้นป้องกันตัวเอง ลักษณะแบบนี้พบได้ทั่วไปทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออก และอาจกล่าวได้ว่า เป็นรูปแบบการกระจุกตัวแบบนี้เอง ที่ทำให้เกิด ‘ลำดับ’ ของการตั้งรกรากที่ค่อยๆ หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ
คำว่า ‘ลำดับการตั้งรกราก’ หรือ Settlement Hierarchy จริงๆ แล้วมีหลายรูปแบบมาก ลำดับที่ว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสาขาวิชา Landscape History อันเป็นการศึกษาว่า มนุษย์ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ให้เหมาะสมกับการตั้งรกรากเพื่อสร้างถิ่นที่อยู่ของตัวเองอย่างไร โดยทั่วไป เราสามารถเรียงลำดับ ‘ถิ่นที่อยู่’ ของมนุษย์ตามความหนาแน่นได้ ดังนี้
Miniscule Density : หรือมีความหนาแน่นต่ำมาก แบบนี้แต่ละชุมชนจะมีจำนวนน้อยกว่า 1,000 คน อาจมีลักษณะเป็นบ้านที่กระจัดกระจายกันอยู่ห่างๆ หรือเป็น ‘กลุ่มบ้าน’ (Hamlet) ที่มีคนอยู่น้อยกว่า 100 คน หรือเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่ขึ้นมา และเริ่มมีร้านค้าหรือโบสถ์ก็ได้
Low Density : หรือมีความหนาแน่นปานกลาง คือมีประชากรน้อยกว่าแสนคน เป็นไปได้ตั้งแต่เมืองเล็ก (Town) ที่มีประชากร 1,000-10,000 คน จนถึงเมืองใหญ่ และในยุคใหม่ ก็คือย่านชานเมืองของเมืองขนาดใหญ่อีกทีหนึ่ง
Mid Density : เริ่มเป็นเมืองที่เรียกว่า City แล้ว มีตั้งแต่เมืองขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ที่มีประชากรลดหลั่นกันไป โดยนิยามแล้ว เมืองขนาดใหญ่ หรือ Large City จะมีประชากรมากกว่า 3 แสนคน แต่ไม่เกิน 1 ล้านคน
High Density : คือถิ่นที่อยู่ที่มีประชากรเกิน 1 ล้านคน เราจะเริ่มเห็นเมืองแบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจาก Metropolis ซึ่งเป็นเมืองขนาดใหญ่ ประกอบไปด้วยเมืองย่อยหรือเขตต่างๆ หลายๆ เขต มักมีประชากรตั้งแต่ 1 ถึง 3 ล้านคน อีกแบบหนึ่งที่ใหญ่ขึ้นมาคือการรวมกันของเมโทรโพลิส เรียกว่า Conurbation มีประชากรราวๆ 3 ถึง 10 ล้านคน กรุงเทพฯ ก็อยู่ในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะถ้านับรวมปริมณฑลด้วย ถัดไปอีกขั้นจะเป็น Megalopolis หรือมหานครขนาดใหญ่ ซึ่งก็คือการรวมกันของ Conurbations หลายๆ แห่ง มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ตัวอย่างเช่น มหานครเซี่ยงไฮ้
Extreme Density : เมืองรูปแบบนี้ยังไม่เกิด แต่เป็นทฤษฎีว่า ในอนาคตอาจเกิด ‘ถิ่นที่อยู่’ ของมนุษย์ที่เรียกว่า Ecumenopolis ขึ้นมาได้ Ecumenopolis ก็หมายถึง Megalopolis หรือมหานครขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกันจนอาจเป็นเมืองที่มีความยาวหลายพันกิโลเมตรได้ ที่น่าสนใจก็คือ แนวโน้มของเมืองขนาดใหญ่แบบนี้ สอดคล้องกับข้อเสนอของนักชีววิทยาคนสำคัญของโลก คือ E.O. Wilson ที่บอกว่าโลกจะไม่มีทางรอดจากหายนะทางสิ่งแวดล้อม ถ้าหากมนุษย์ไม่อุทิศพื้นที่บนบกครึ่งหนึ่งให้กับธรรมชาติ โดยเฉพาะในป่าเขตร้อน คือกั้นไว้ไม่เข้าไปทำกิจกรรมยุ่งเกี่ยวใดๆ เพื่อปล่อยให้ธรรมชาติฟื้นตัวขึ้นมาเอง ข้อเสนอนี้ทำให้มนุษย์มีที่อยู่น้อยลงครึ่งหนึ่ง และต้องใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ผลิตอาหารและพลังงานขึ้น ซึ่งถ้าหากมนุษย์ไม่อพยพไปอยู่ดวงจันทร์หรือดาวอังคารเสียก่อนก็เป็นไปได้อย่างยิ่งที่จะเกิดเมืองแบบ Ecumenopolis ขึ้นมา ที่น่าสนใจก็คือ สหประชาชาติทำนายไว้ว่า ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า ทวีปที่จะมีเมืองขนาดใหญ่ที่สุดในโลกก็คือแอฟริกา
ในปี 2100 เมืองลากอสแห่งไนจีเรีย จะเป็นเมืองที่มีประชากรราว 88.3 ล้านคน มากที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ตามมาด้วย คินชาซา เมืองหลวงของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ที่จะมีประชากรราว 83.5 ล้านคน และถัดไปก็คือเมืองดาร์เอสซาลาม ในแทนซาเนีย ที่จะมีประชากร 73.7 ล้านคน ทิ้งห่างจากมุมไบ (67.2 ล้านคน) เดลี (57.3 ล้านคน) ในอินเดีย ก่อนจะย้อนกลับมาที่แอฟริกาอีกครั้งด้วยเมืองคาร์ทูมในซูดาน (56.6 ล้านคน) และเมืองเนียมีย์ ในไนเจอร์ (56.1 ล้านคน)
ที่สำคัญ แอฟริกาจะเป็นทวีปเดียวที่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว เพราะทวีปอื่นๆ ล้วนกลายเป็นสังคมผู้สูงวัยไปหมดแล้ว ไม่ว่าจะในยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย หรืออเมริกา เนื่องจากอัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตาย จนทำให้ประชากรไม่เพิ่มอีกต่อไป
นั่นแปลว่า – ในอนาคต ถิ่นที่อยู่ที่จะพบมนุษย์มากที่สุด สดชื่น และมีพละกำลังมากที่สุด ก็คือทวีปอันเคยเป็น ‘อู่’ ให้กำเนิดมนุษย์อย่างแอฟริกา, นั่นเอง
ที่มาบทความ : GMlive