ตอนที่ 15 – เมื่อยุโรปครองโลก
Last updated
Last updated
ก่อนปี 1500 กลุ่มประเทศยุโรปตะวันตกอย่างอังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน หรือโปรตุเกสนั้นเป็นเพียง “พื้นที่ห่างไกลความเจริญ” ในแถบเมดิเตอเรเนียนเท่านั้น
ยุโรปเพิ่งจะเริ่มมีบทบาทในเวทีโลกมากขึ้นในช่วงปี 1500-1750 เมื่อพวกเขาออกทะเลและพิชิต “โลกใหม่” อย่างอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แต่ถึงกระนั้นยุโรปก็ยังถือว่าจิ๊บจ๊อยมากเมื่อเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชีย ในปี 1775 ขนาดเศรษฐกิจของของอินเดียกับจีนสองประเทศรวมกันก็คิดเป็น 2 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลกแล้ว
ศูนย์กลางทางอำนาจเพิ่งจะถูกปรับเปลี่ยนในช่วงปี 1750-1850 หลังจากที่ยุโรปพิชิตประเทศในเอเชียครั้งแล้วครั้งเล่า พอถึงปี 1900 ยุโรปก็ได้ครอบครองพื้นที่เกือบทั้งโลก ขนาดเศรษฐกิจของยุโรปและสหรัฐรวมกันมีมูลค่าเท่ากับ 50% ของเศรษฐกิจโลก ขณะที่จีนนั้นมีมูลค่าเพียง 5% เท่านั้น
อะไรคือสิ่งที่ทำให้ยุโรปผงาดขึ้นมาเป็นผู้นำโลกในเวลาแค่ 100 ปี?
เมื่อยอมรับว่าไม่รู้
ในสองตอนที่ผ่านมาผมได้พูดถึงการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในยุโรป ซึ่งเริ่มจากทัศนคติที่ว่า “เรายังไม่ได้รู้ทุกอย่างที่เราจำเป็นต้องรู้”
วิธีคิดแบบนี้สำคัญมาก เพราะก่อนหน้านี้มนุษย์ต่างเชื่อว่าพวกเขารู้ทุกอย่างที่จำเป็นต้องรู้แล้วผ่านคำสอนของมหาศาสดาทั้งหลาย
แต่เมื่อมนุษย์ยอมรับได้ว่าตัวเองไม่รู้ จึงพร้อมออกเดินทางเพื่อค้นคว้าเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่ๆ และความรู้นั้นก็ถูกนำมาแปรรูปเป็นเทคโนโลยีและเครื่องมือที่นำมาซึ่งอำนาจที่มากมายยิ่งขึ้น
แผนที่อันว่างเปล่า
มนุษย์นั้นชอบเขียน “แผนที่โลก” มาแต่ไหนแต่ไร แม้ว่าตัวเองไม่เคยได้ออกไปสำรวจดินแดนอื่นๆ มาก่อน
คนในแอฟริกา เอเชีย และยุโรป ไม่เคยรู้ถึงการมีอยู่ของทวีปอเมริกา ส่วนคนในอเมริกาก็ไม่เคยรับรู้ถึงการมีอยู่ของแอฟริกา เอเชีย และยุโรป แต่แผนที่โลกสมัยนั้นก็ถูกเขียนขึ้นราวกับว่าทวีปที่เขาไม่รู้จักนี้ไม่มีอยู่ หรือไม่พื้นที่เหล่านั้นก็จะเต็มไปด้วยภาพสัตว์ประหลาด “แผนที่โลก” สมัยเก่าจึงไม่มีพื้นที่ว่างเผื่อไว้สำหรับดินแดนที่ยังไม่ถูกค้นพบเลย
แต่ในศตวรรษที่ 15 และ 16 คนยุโรปเริ่มวาดแผนที่โลกโดย “เว้นพื้นที่ว่าง” เอาไว้เยอะมาก ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคนยุโรปยอมรับแล้วว่าพวกเขายังไม่รู้อะไรอีกมาก และยังมีดินแดนอีกมากมายที่พวกเขาอาจยังไม่เคยไปถึง
ค้นพบทวีปอเมริกา
จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อปี 1492 เมื่อเรือพินต้า (Pinta) ของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christoper Columbus) ได้แล่นออกจากสเปนและล่องเรือมาทางทิศตะวันตกด้วยจุดประสงค์ที่จะหาเส้นทางใหม่สู่ญี่ปุ่น (ก่อนหน้านั้นคงแล่นไปทางทิศตะวันออกตลอด) โดยโคลัมบัสคำนวณว่าระยะทางจากสเปนไปญี่ปุ่นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 7,000 ไมล์
ความเป็นจริงก็คือญี่ปุ่นอยู่ห่างจากสเปนถึง 20,000 ไมล์ และระหว่างทางจากสเปนไปญี่ปุ่นนั้นมีทวีปขนาดใหญ่คั่นกลางอยู่!
ณ เวลาตี 2 ของ วันที่ 12 ตุลาคม ปี 1492 Juan Rodriguez Bermejo ซึ่งอยู่บนเสากระโดงเรือพินต้าตะโกนเสียงดังว่า “แผ่นดิน แผ่นดิน!” (Land! Land!)
โคลัมบัส (ซึ่งคิดว่าแผนที่ในมือเขานั้นมีข้อมูลเรื่องทวีปต่างๆ ในโลกครบถ้วนแล้ว) เชื่อว่าพวกเขาได้เดินทางมาถึงชายฝั่งตะวันออกของหมู่เกาะ East Indies (หมู่เกาะของอินโดนีเซีย) โคลัมบัสจึงเรียกคนที่อยู่ในดินแดนแห่งนี้ว่า Indians
โคลัมบัสไม่เคยยอมรับว่าเขาได้ค้นพบทวีปใหม่ตราบจนวันสุดท้ายของชีวิต เพราะสำหรับคนในยุคนั้น ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีทวีปอีกทวีปหนึ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้จัก เพราะในคัมภีร์ไบเบิลรวมถึงนักปราชญ์ทุกคนก่อนหน้านี้ก็พูดถึงแต่แอฟริกา ยุโรป และเอเชียเท่านั้น ใครเล่าจะเชื่อว่าคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์จะตกหล่นทวีปไปทั้งทวีปได้!
คนแรกที่เชื่อว่านี่คือทวีปใหม่จริงๆ คือนักเดินทะเลชาวอิตาเลียนนาม Amerigo Vespucci ที่ได้เดินทางไปแผ่นดินใหม่นี้หลายครั้งในปี 1492-1504 และได้เขียนถึงการเดินทางครั้งนี้ว่าแผ่นดินที่โคลัมบัสค้นพบนั้นไม่ใช่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศในเอเชีย แต่เป็นทวีปใหม่ที่ไม่เคยมีการบันทึกในไบเบิล
ในปี 1507 นักวาดแผนที่ชื่อ Martin Waldseemuller ก็ได้ตีพิมพ์แผนที่โลกฉบับใหม่ที่เพิ่มทวีปใหม่นี้เข้าไป และด้วยความเข้าใจผิดว่านาย Amerigo เป็นคนค้นพบทวีปนี้ เขาจึงตั้งชื่อทวีปนี้ว่าอเมริกาเป็นเกียรติแก่นายอเมริโก แผนที่ใหม่นี้ป๊อปูล่าร์มากและถูกนักวาดแผนที่อื่นๆ ก๊อปปี้ไปใช้ ทวีปใหม่นี้จึงถูกจารึกชื่อว่าเป็นอเมริกาไปโดยปริยาย
หรือยุโรปจึงเก่งกว่าเอเชีย?
ทำไมยุโรปถึงค้นพบทวีปอเมริกาก่อนจีน ทั้งๆ ที่จีนก็มีความรู้ด้านการเดินทะเลดีพอๆ กับคนยุโรปหรืออาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ
ราว 80 ปีก่อนโคลัมบัสจะค้นพบอเมริกา เจิ้งเหอ (Zheng He) ผู้บัญชาการทหารเรือจีนในยุคราชวงศ์หมิง ได้นำพาเรือ 300 ลำและลูกเรือถึง 30,000 คนออกท่องทะลไปถึงดินแดนอย่างอินโดนีเซีย ศรีลังกา ทะเลแดง และแอฟริกาตะวันออก
กองเรือของเจิ้งเหอนั้นใหญ่กว่าของโคลัมบัสมาก เพราะโคลัมบัสมีเรือแค่ 3 ลำและลูกเรือ 120 คนเท่านั้นเอง
ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเจิ้งเหอกับโคลัมบัสก็คือ เจิ้งเหอไม่ได้ไปเยือนดินแดนเหล่านั้นเพื่อรุกรานหรือนำมาเป็นดินแดนอาณานิคมแต่อย่างใด และเมื่อผู้ปกครองแผ่นดินจีนผัดเปลี่ยนในปี 1430 การออกเดินทางของเจิ้งเหอก็จบลงด้วย ข้อมูลต่างๆ สูญหาย และไม่เคยมีกองเรือที่ใหญ่ขนาดนี้จากน่านน้ำของจีนอีกเลย
ดังนั้น การที่ยุโรปค้นพบอเมริกาก่อนเมืองจีนนั้น ไม่ใช่เพราะคนยุโรปเก่งกว่าหรือมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า แต่เป็นเพราะค่านิยมและความเชื่อที่ต่างกันต่างหากที่ทำให้ชาวจีนไม่เคยคิดออกล่าอาณานิคมในแดนไกล
เร่งเครื่องพัฒนา
การค้นพบทวีปอเมริกาถือเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ เพราะนอกจากมันจะสอนให้ชาวยุโรปรู้ว่าควรจะให้น้ำหนักกับหลักฐานปัจจุบันมากกว่าความรู้ในอดีตแล้ว มันยังบังคับให้ชาวยุโรปต้องเร่งศึกษา ค้นคว้าและพัฒนาโดยเร็ว เพราะหากพวกเขาต้องการจะยึดครองดินแดนใหม่ที่เรียกว่าอเมริกานี้ ก็ย่อมต้องศึกษาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ข้อมูลเชิงชีววิทยาและนิเวศน์วิทยาของโลกใหม่นี้ให้ได้มากที่สุด ความรู้ที่อยู่ในพระคัมภีร์ไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
ในศตวรรษที่ 15 และ 16 ชาวยุโรปออกท่องไปทั่วโลกและล่าอาณานิคมมาได้มากมาย และที่สำคัญยังได้สร้างเครือข่ายทางการค้าที่เชื่อมโลกผู้คนทั้งโลกไว้ด้วยกัน การล่าอาณานิคมอย่างหิวกระหายได้นำพาผู้คนและประวัติศาสตร์ที่เคยเป็นเอกเทศให้มาอยู่ในประวัติศาสตร์เล่มเดียวกัน
สเปนบุกอเมริกาใต้
ภายใน 20 ปี หลังการค้นพบทวีปอเมริกา สเปนได้เข้ายึดครองหมู่เกาะแคริบเบียนและบังคับให้คนท้องถิ่นเป็นทาสเกือบหมด คนพื้นเมืองเหล่านี้ล้มตายจากการถูกใช้งานอย่างทารุณและจากโรคที่พวกเขาไม่มีภูมิคุ้มกันที่แฝงมากับลูกเรือจากสเปน
เมื่อยึดหมู่เกาะแคริบเบียนได้เสร็จสรรพแล้ว อาณาจักแอซเท็กก็เป็นเหยื่อรายต่อไป (Aztec – ปัจจุบันคือเม็กซิโก) เมื่อนายเฮอร์นัน คอร์เทส (Hernán Cortés) และพรรคพวก 550 คน จอดเรือริมหาดในเมือง Vera Cruz ในปี 1519 และประกาศกับชาวพื้นเมืองว่า “เราถูกกษัตริย์สเปนส่งมา เรามาโดยสันติ โปรดพาเราไปพบผู้นำของท่าน” (คอร์เทสโกหกหน้าด้านๆ เพราะกษัตริย์สเปนไม่เคยรู้จักคอร์เทส พวกเขาเดินทางมากันเองต่างหาก)
เมื่อได้พบและพูดคุยกับจักรพรรดิมอนเตซูม่า (Emperor Montezuma) คอร์เทสก็ออกคำสั่งให้ลูกทีมสังหารองค์รักษ์ของจักรพรรดิและจับมอนเตซูม่าเอาไว้เป็นตัวประกัน เป็นระยะเวลาหลายเดือนที่มอนเตซูม่ายังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำของแอซเท็กโดยมีคอร์เทสชักใยอยู่เบื้องหลัง ระหว่างนั้นคอร์เทสก็ได้ส่งลูกเรือให้เข้าไปแทรกซึมกับชาวนครแอ๊ซเท็กเพื่อทำความคุ้นเคยกับคนในพื้นที่
แต่แล้ว “อำมาตย์” กลุ่มหนึ่งก็ตัดสินใจปฏิวัติ ตั้งจักรพรรดิองค์ใหม่ และอัปเปหิคอร์เทสและมอนเตซูม่าออกจากเมืองหลวง
เรื่องมาไคลแมกซ์เมื่อคอร์เทสได้เข้าไปชักชวนชาวบ้านที่ลูกเรือเคยสร้างสัมพันธ์เอาไว้ให้มาร่วมมือกับคอร์เทสเพื่อทำการปฏิวัติซ้อน ชาวบ้านนับหมื่นให้ความร่วมมือและช่วยให้คอร์เทสกลับมายึดเมืองหลวงได้อีกครั้งโดยเบ็ดเสร็จ กว่าชาวบ้านจะรู้ตัวว่าถูกหลอกใช้ก็สายไปเสียแล้ว
อีก 10 ปีต่อมา ชายชื่อปิซาโร่ก็เดินทางถึงอาณาจักรอินคาในอเมริกาใต้ (เปรูในปัจจุบัน) และใช้วิธีแบบเดียวกับคอร์เทสเป๊ะๆ แถมคราวนี้มีลูกเรือไปด้วยเพียง 168 คนเท่านั้น! ปิซาโร่อ้างว่าพระราชาแห่งสเปนได้ส่งเขามา เรามาอย่างสันติ และขอเข้าพบผู้นำอาณาจักรอินคา แล้วปิซาโร่ก็ลักพาตัวผู้นำไป ทำให้เมืองระส่ำระสาย และการยึดอาณาจักรอินคาได้สำเร็จ
ภายในเวลาเพียง 100 ปีหลังการมาเยือนของคอร์เทสและปิซาโร่ ชาวพื้นเมืองในทวีปอเมริกาล้มตายไปราว 90% โดยมีสาเหตุหลักมาจากโรคที่ชาวสเปนนำมาจากยุโรป (และเป็นโรคที่คนท้องถิ่นไม่มีภูมิคุ้มกัน) ส่วนคนที่เหลืออยู่ก็ถูกกดขี่ข่มเหงอย่างทารุณ
การเมืองและวิทยาศาสตร์
ในยุคล่าอาณานิคมนี้ การเมืองและวิทยาศาสตร์ผูกพันกันอย่างแยกไม่ออก ทุกกองทัพที่ถูกส่งไปพิชิตดินแดนอันไกลโพ้นมักจะมีนักวิทยาศาสตร์ติดไปด้วยเสมอ
ยกตัวอย่างเช่นตอนที่นโปเลียนบุกอียิปต์ในปี 1798 ก็มีนักวิชาการถึง 165 คนที่เข้าร่วมไปกับกองทัพด้วย
หรือในปี 1831 กองทัพเรือของอังกฤษถูกส่งไปสำรวจพื้นที่ชายฝั่งของทวีปอเมริกาใต้ หมู่เกาะฟอล์คแลนด์ และหมู่เกาะกาลาปากอส เหตุผลหลักก็เพื่อที่จะเข้าใจภูมิศาสตร์ของพื้นที่เหล่านี้เพื่อเพิ่มความได้เปรียบด้านการทหาร
กัปตันเรือซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์มือสมัครเล่นคิดว่าน่าจะดีถ้าจะเอานักธรณีวิทยาไปด้วยซักคน นักธรณีวิทยาคนแล้วคนเล่าปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเดินทางครั้งนี้ จนกระทั่งกัปตันได้มาเจอเด็กอายุ 22 ปีที่เพิ่งจบจากเคมบริดจ์ที่ชื่อว่าชาลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) และเมื่อดาร์วินรู้ก็ตัดสินใจขึ้นเรือโดยไม่ลังเล
ตลอดการสำรวจกัปตันเรือใช้เวลาไปกับการวาดแผนที่ทางการทหาร ส่วนดาร์วินเองก็ใช้เวลาไปกับการเก็บข้อมูลและคิดวิเคราะห์จนออกมาเป็นทฤษฏีวิวัฒนาการอันเลื่องลือ
ภาระของคนขาว
การค้นคว้าเพื่อค้นพบนั้นกลายมาเป็นอุดมการณ์ใหม่ที่ชาวยุโรปยึดถือและใช้ในการสร้างความชอบธรรมในการออกเดินทางไปดินแดนใหม่ๆ
ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ความรู้ใหม่ๆ ที่ได้จากการสำรวจและค้นพบนั้น สามารถสร้างประโยชน์และ “ความก้าวหน้า” ให้กับคนในพื้นที่ที่ถูกยึดครองด้วย ไม่ว่าจะเป็นยารักษาโรค การศึกษา หรือทางรถไฟ
นักล่าอาณานิคมจึงบอกตัวเองว่า สิ่งที่พวกเขาทำไม่ใช่การเอารัดเอาเปรียบ แต่เป็นงานการกุศลที่ช่วยให้พวกล้าหลังมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
Rudyard Kipling เคยแต่งกลอน “ภาระของคนขาว” (White Man’s burden) เอาไว้ว่า
Take up the White Man’s burden, Send forth the best ye breed Go bind your sons to exile, to serve your captives’ need; To wait in heavy harness, On fluttered folk and wild— Your new-caught, sullen peoples, Half-devil and half-child.
จงแบกรับภาระของคนขาว ด้วยคนที่ดีที่สุดของเผ่าพันธุ์เรา จงส่งลูกชายไปต่างแดน เพื่อดูแลเหล่าเชลย ล่ามด้วยบังเหียนอันหนักอึ้ง ไม่เชื่องและวุ่นวาย เหล่าเชลยผู้บึ้งตึง ครึ่งเด็กครึ่งมารร้าย
แน่นอนว่ากลอนนี้เขียนขึ้นเพื่อยกการกระทำของคนขาวให้ดูสูงส่งเกินจริง
ในปี 1764 อังกฤษเข้ายึดเมืองเบงกาลในอินเดีย ผู้ปกครองกลุ่มใหม่ไม่ได้สนใจอะไรมากไปกว่าทำให้ตัวเองร่ำรวยขึ้น พวกเขาใช้นโยบายเศรษฐกิจอันนำไปสู่การอดอาหารครั้งใหญ่ในเบงกาล (The Great Bengal Famine) ที่กินเวลาถึง 4 ปีและทำให้ชาวเบงกาลล้มตายถึง 1 ใน 3 หรือประมาณ 10 ล้านคน
ยุคแห่งการล่าอาณานิคมนั้นมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย เราจะวางให้ชาวยุโรปเป็นผู้ร้ายก็ได้เพราะพวกเขาสังหารและสร้างความสูญเสียให้กับคนท้องถิ่นอย่างเหลือแสน หรือจะมองชาวยุโรปเป็นพระเอกก็ได้เพราะพวกเขาได้วางระบบสาธารณูปโภคและรากฐานทางการศึกษาที่คนรุ่นหลังยังได้รับประโยชน์จนถึงทุกวันนี้
ประวัติศาสตร์นั้นซับซ้อนเกินกว่าจะชี้ว่าใครคือพระเอกหรือผู้ร้าย
ในตอนหน้าเราจะมาพูดถึงจิ๊กซอว์อีกหนึ่งตัวที่ขับเคลื่อนการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์และการล่าอาณานิคม
จิ๊กซอว์สำคัญตัวนี้มีชื่อว่าทุนนิยม
ที่มาบทความ :https://anontawong.com