ตอนที่ 6: ปลายทางของการปฏิวัติมนุษย์นิยมคืออภิมนุษย์

โดย ดร. สุวินัย ภรณวลัย

ก่อนยุคทันสมัย เซเปียนส์ใช้ชีวิตโดยเอาเรื่องเล่าของพระเจ้าเป็นศูนย์กลาง (โดยเฉพาะในโลกของศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลามและศาสนาพราหมณ์) แต่พอเข้าสู่ยุคทันสมัย เซเปียนส์ได้หันมาเอาเรื่องเล่าเกี่ยวกับมนุษย์หรือความเชื่อใหม่เรื่องมนุษย์นิยมเป็นศูนย์กลางแทน

การปฏิวัติมนุษย์นิยมอันเป็นหลักความเชื่อใหม่ที่ "พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน" สำหรับคนสมัยนั้นได้พิชิตโลกทั้งโลกในช่วงสองสามศตวรรษที่ผ่านมา ศาสนามนุษย์นิยมบูชาความเป็นมนุษย์ และคาดหวังให้มนุษย์แสดงบทบาทที่พระเจ้าเคยแสดงในศาสนาคริสต์และอิสลาม (หน้า300)

มนุษย์นิยมคาดหวังให้ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นฝ่ายมอบความหมายให้จักรวาล ผ่านการดึงประสบการณ์ภายในของตนออกมา เพื่อสร้างความหมายให้แก่โลกที่ไร้ความหมาย หัวใจของการปฏิวัติมนุษย์นิยมในยุคทันสมัย จึงมิใช่การสูญสิ้นศรัทธาในพระเจ้า แต่เป็นการหันมาศรัทธาในมนุษย์แทน

คำขวัญของมนุษย์นิยมในทางจริยธรรม คือ "ถ้ารู้สึกดี จงทำ" คำขวัญของมนุษย์นิยมในทางการเมือง คือ "ผู้ออกเสียงรู้ดีที่สุด" คำขวัญของมนุษ์นิยมในทางเศรษฐกิจ คือ "ลูกค้าถูกเสมอ" คำขวัญของมนุษย์นิยมในทางสุนทรียศาสตร์ คือ "ความงามอยู่ในดวงตาของผู้ชม"

สรุปสั้นๆได้ว่า พวกมนุษย์นิยมเชื่อมั่นในความรู้สึกของปัจเจกซึ่งเป็นอัตวิสัยเท่านั้นในการตัดสินทุกเรื่องราวในชีวิตในยุคทันสมัยภายใต้การปฏิวัติมนุษย์นิยม ความรู้สึกของมนุษย์คือแหล่งกำเนิดของความหมายและอำนาจทั้งปวง (หน้า 312) ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายสูงสุดของชีวิตแบบมนุษย์นิยมคือการพัฒนาความรู้อย่างเต็มที่ผ่านประสบการณ์อันหลากหลายทางด้านปัญญา อารมณ์และทางกายภาพ

เป้าหมายของการดำรงอยู่ คือ การกลั่นประสบการณ์ที่เป็นไปได้อย่างกว้างขวางที่สุดของชีวิตให้กลายเป็นภูมิปัญญา(wisdom) จุดยอดสูงสุดแห่งชีวิตมีเพียงประการเดียวคือ การได้วัดความรู้สึกทุกสิ่งทุกอย่างในการเป็นมนุษย์ ตั้งแต่เซเปียนส์สร้างประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของตนขึ้นในช่วง 70,000 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีวัฒนธรรมไหนที่ให้ความสำคัญแก่ความรู้สึก ความปรารถนาและประสบการณ์ของมนุษย์มากเท่ามนุษย์นิยมมาก่อนอย่างไรก็ดีลัทธิมนุษย์นิยมได้แตกออกเป็นสามนิกายย่อยที่ตีความประสบการณ์ของมนุษย์แตกต่างกันไป คือ

  1. มนุษย์นิยมแบบเสรีนิยม (liberal humanism) หรือเรียกย่อๆว่า เสรีนิยม (liberalism) นี่คือ มนุษย์นิยมแบบดั้งเดิมและเป็นกระแสหลักที่มองว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นปัจเจกบุคคลที่มีความเฉพาะตัว จึงให้ความสำคัญกับเสรีภาพมากที่สุด

  2. มนุษย์นิยมแบบสังคมนิยม (socialist humanism) ที่โอบอุ้มความเคลื่อนไหวของสังคมนิยมและคอมมิวนิสต์เอาไว้ โดยให้ความสำคัญกับความเสมอภาคมากกว่าเสรีภาพ และฝากศรัทธาทั้งหมดไว้ที่พรรคการเมืองของตน (เชื่อว่าพรรคการเมืองรู้ดีที่สุด)

  3. มนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการ (evolutionaly humanism) เชื่อมั่นแบบยึดมั่นถือมั่นในทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน จึงไม่ชื่อว่าวิวัฒนาการจะหยุดอยู่แค่เซเปียนส์ แต่ยังมีหนทางอีกยาวไกลที่มุ่งไปสู่การเป็นอภิมนุษย์ (superhuman)

ผู้สนับสนุนแนวคิดมนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการที่โด่งดังที่สุด คือพวกนาซี แต่นี่เป็นเพียงเวอร์ชั่นที่สุดโต่งของมนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการเท่านั้น ลัทธินาซีเกิดขึ้นจากการจับคู่แบบมิจฉาทิฐิระหว่างมนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการกับทฤษฎีเชื้อชาติจำเพาะและอารมณ์คลั่งชาติอย่างรุนแรง แปลกแต่จริง ในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 ที่เราเห็นได้ชัดถึงขีดจำกัดของมนุษย์นิยมแบบเสรีนิยม (ที่เลยจุดพีคมาแล้ว) และมนุษยนิยมแบบสังคมนิยม (ที่ส่วนใหญ่ล้มเหลวไม่เป็นท่ายกเว้นในประเทศจีน) ปรากฏว่า มนุษยนิยมแบบวิวัฒนาการกลับผงาดขึ้นมาแทนและมีแนวโน้มว่าจะกลายมาเป็นกระแสหลักในการก่อร่างสร้างศตวรรษที่ 21 หลังจากนี้

โครงการ Homo Deus (มนุษย์เทพ) ที่กำลังวิจัยและพัฒนาอยู่ในปัจจุบัน กับความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีชีวภาพ คือพลังทางวัตถุที่หนุนหลังแนวคิดมนุษย์นิยมแบบวิวัฒนาการให้ผงาดขึ้นมาอีกครั้งหลังจากนี้ พร้อมกันนั้น ศาสนาเทคโนโลยี (techno-religion) กำลังจะเข้ามาแทนศาสนามนุษย์นิยมที่ครองโลกในยุคทันสมัยมาอย่างยาวนาน เพราะพร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของมวลชนที่เป็น "มนุษย์ที่ไร้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ" จำนวนมหาศาล ที่เป็นผลมาจากการปฏิวัติปัญญาประดิษฐ์ในอนาคตอันใกล้ ความเชื่อความศรัทธาเรื่องมนุษย์นิยมแบบเสรีนิยมจะถูกบ่อนทำลายในระดับฐานราก ปัจจุบัน ขบวนรถไฟแห่ง "ความก้าวหน้า" ได้เคลื่อนออกจากสถานีที่ชื่อ โฮโมเซเปียนส์ ไปแล้ว สังคมไหน องค์กรไหน ปัจเจกคนไหนที่พลาดขบวนนี้จะไม่มีโอกาสอีกเป็นครั้งที่สอง

การจะหาที่นั่งในขบวนนี้ได้ สังคมนั้น องค์กรนั้น ผู้นั้นจำเป็นต้องเข้าใจเทคโนโลยีของศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอำนาจของเทคโนโลยีชีวภาพและอัลกอริทึม ผู้ที่ขึ้นรถไฟแห่งความก้าวหน้าได้ทัน จะได้รับอำนาจวิเศษแห่งการสร้างสรรค์และการทำลาย ส่วนพวกที่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลังจะต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ไม่ช้าก็เร็ว (หน้า 361)

Last updated