โซเชียลมีเดีย ในมุมมองของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก
Last updated
Last updated
โซเชียลมีเดีย ในมุมมองของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก / โดย ลงทุนแมน
บทความนี้ ลงทุนแมนตั้งใจทำขึ้น จากการถอดคลิปเสียงของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ที่พูดให้กับพนักงานเฟซบุ๊ก ระหว่างการประชุมบริษัท เนื้อหาทั้งหมดจะครอบคลุมตั้งแต่ ความเสี่ยงของเฟซบุ๊กกับรัฐบาล, แผนการพัฒนาสกุลเงิน Libra รวมถึงมุมมองต่อแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ เช่น Twitter, YouTube, TikTok ของจีน ลงทุนแมนจะสรุปเป็นข้อๆ ตามไทม์ไลน์ทั้งหมดของการประชุม
อยากให้อ่านบทความนี้ทั้งหมด ถ้าไม่มีเวลาอ่านให้เซฟ หรือ แชร์เก็บไว้อ่านทีหลังได้ ถ้าอ่านบทความนี้จบ เราจะได้รับรู้มุมมองของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใหญ่สุดในโลก ทั้ง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม เมสเซ็นเจอร์ ว็อตส์แอป ที่มีผู้ใช้งานรวมกัน 2,700 ล้านคน การมาถึงจุดนี้ของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ไม่ใช่เรื่องดวง แต่เป็นความคิดที่อยู่เบื้องหลังเขาทั้งหมด..
เริ่มต้นด้วยคำถามโดนใจที่ว่า มาร์กคิดว่า โอกาสในการ “แยกบริษัทเฟซบุ๊ก” มีมากน้อยแค่ไหน?
เรื่องนี้มีที่มาจาก นักการเมืองสหรัฐฯ บางคนกล่าวหาว่า เฟซบุ๊กกำลังผูกขาดโซเชียลมีเดีย และต้องการแยกบริษัทเฟซบุ๊ก นั่นหมายความว่า เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ว็อตส์แอป ต้องเป็นอิสระต่อกัน โดยหนึ่งในนักการเมืองที่มีแนวคิดดังกล่าวก็คือ เอลิซาเบท วอร์เรน ซึ่งมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ตอบอย่างหนักแน่นเลยว่า ถ้าเธอได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี เฟซบุ๊กจะสู้กลับทางกฎหมายอย่างแน่นอน แต่มันก็คงแย่สำหรับเรา เพราะเราไม่อยากสู้กับรัฐบาลของเราเอง แต่ถ้าเฟซบุ๊กถูกบีบจนหมดทางเลือก เฟซบุ๊กก็ต้องสู้กลับ..
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวชื่นชมว่า สหรัฐอเมริกามีระบบกฎหมายแข็งแกร่ง ซึ่งต่างจากประเทศอื่นของโลกที่รัฐสามารถเปลี่ยนกฎหมายอะไรก็ได้ตามใจ และการแยกบริษัทไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ ตรงกันข้าม ปัญหาจะแย่ขึ้น เพราะอำนาจจัดการจะถูกแยกออก เมื่อเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น จะทำให้การจัดการกับข่าวปลอม เนื้อหาที่ทำให้เกลียดชังกัน ลำบากขึ้น และนั่นก็เป็นเหตุผลว่า ทำไม “ทวิตเตอร์” ถึงจัดการเรื่องนี้ได้ไม่ดีพอเท่าเฟซบุ๊ก ซึ่งทวิตเตอร์เจอปัญหานี้เหมือนกัน แต่พวกเขาไม่มีเงินมากพอที่จะลงทุนกับเรื่องเหล่านี้
“รู้ไหมว่า การลงทุนเรื่องความปลอดภัยของเฟซบุ๊ก มีขนาดมากกว่า รายได้ของทวิตเตอร์ทั้งบริษัทเสียอีก..” สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ตอนนี้นักการเมืองบางคนกำลังหัวเสียกับเรื่องที่เกิดขึ้นบนโลกโซเชียลมีเดีย และอยากแก้ไขมันมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็มีบางคนบอกว่า เอาค้อนมาทุบมันดีกว่า ซึ่งเรื่องแบบนี้มันไม่ใช่การแก้ปัญหา..
คำถามต่อไปคือ LIBRA จะเกิดขึ้นหรือไม่?
ความคิดของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต้องการทำให้ทุกคนบนโลกโอนเงินระหว่างกัน ได้ง่ายเหมือนกับการส่งข้อความ หรือส่งรูป โดยเริ่มต้นทำได้ผ่านทุกแพลตฟอร์มที่เป็นเครือข่ายของเฟซบุ๊กไม่ว่าจะเป็น เมสเซ็นเจอร์ หรือว็อตส์แอป
เฟซบุ๊กเริ่มทดสอบความคิดนี้กับสกุลเงินท้องถิ่น ที่แรกคือ อินเดีย และตอนนี้กำลังจะขยายไปยังเม็กซิโก รวมถึงประเทศอื่นๆ อีกจำนวนมากภายในสิ้นปีนี้ โดยแผนยิ่งใหญ่ที่กำลังจะตามมาก็คือ Libra ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลประเภทใหม่ ที่สามารถใช้ได้ทั่วโลก เรื่องนี้จะทำให้เกิดเป็นระบบการเงินใหม่ เพราะไม่ใช่เฟซบุ๊กเพียงบริษัทเดียว แต่จะมีบริษัทใหญ่ๆ อีก 27 แห่งที่เข้าร่วมด้วย ซึ่งในวันที่ Libra ถูกนำมาใช้จริง เฟซบุ๊กคาดหวังว่าจะมีอีกกว่าร้อยบริษัทมาเข้าร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม การทำให้โปรเจกต์ Libra ให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แค่บอกว่า “นี่ผลิตภัณฑ์ใหม่ของเรา แอปของคุณอัปเดตแล้ว เริ่มโอนเงินด้วย Libra ได้แล้วนะ” เนื่องจากเรื่องของการเงินมีกฎหมายควบคุมอย่างเคร่งครัด มีหลายประเด็นสำคัญที่ต้องจัดการก่อน ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันการฟอกเงิน ป้องกันการระดมเงินของผู้ก่อการร้าย ป้องกันธุรกรรมจากบุคคลที่รัฐบาลแต่ละประเทศกำหนดว่าห้ามเข้าไปเกี่ยวข้อง รวมถึงการระบุตัวตนของผู้ใช้งาน โดยเฟซบุ๊กสัญญาว่าจะจัดการเรื่องทั้งหมดนี้ให้เรียบร้อย
ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่การสร้างเครื่องมือภายใน แล้วออกมาบอกว่า “เราแก้ไขปัญหาได้แล้วนะ” แต่เป็นการนัดคุยกับผู้ที่มีอำนาจควบคุม ฟังสิ่งที่พวกเขากังวล และแนวทางที่ควรจะเป็น และทำให้มั่นใจได้ว่าพาร์ตเนอร์คนอื่นจะจัดการอย่างเหมาะสม บางส่วนของการพูดคุยอาจถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ แต่ก็ยังมีอีกหลายส่วนที่ต้องหารือโดยที่ไม่ได้มีกล้องมาคอยจับ นี่คงเป็นหนทางที่ยาวไกล.. แต่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มองว่าอุปสรรคเป็นเรื่องปกติของการทำโครงการใหญ่
เรื่องต่อไป คือ การพูดถึงคู่แข่งหน้าใหม่ของ เฟซบุ๊ก
มีคนถาม มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ว่ามีความกังวลกับ TikTok หรือไม่ ที่เริ่มได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น และ Gen Z แล้วเฟซบุ๊กมีแผนอะไรในการโต้กลับ TikTok?
มาร์ก ยอมรับว่า TikTok เติบโตดีในช่วงที่ผ่านมา TikTok เป็นแพลตฟอร์มจีนแรก ที่สามารถขยายฐานผู้ใช้งานทั่วโลกส่วนใหญ่ในโลกนี้ บริษัทเทคโนโลยีจะเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกัน หลายคนคิดว่า Alibaba กับ Tencent เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก ในมุมมองของ มาร์ก เขามองว่า Alibaba กับ Tencent ทำได้ดีแค่ในประเทศจีน และ ขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น
แต่การเติบโตของ ByteDance เจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok ถือเป็นบริษัทจีนบริษัทแรก ที่สามารถขยายฐานผู้ใช้งานไปได้ทั่วโลกสิ่งที่ TikTok พยายามนำเสนอก็คือ วิดีโอสั้น ที่มาพร้อมกับแท็บการค้นหา ซึ่งจริงๆ แล้ว มันแทบไม่ต่างอะไรไปจากฟังก์ชัน Explore และ Stories บนอินสตาแกรม เหมือนกับว่า TikTok ดึงแค่แท็บ Explore ของอินสตาแกรม มาเป็นเรื่องราวของ TikTok ทั้งแอป..
เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า เทรนด์การใช้โซเชียลมีเดียในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะสนใจวิดีโอสั้น ๆ ซึ่งเฟซบุ๊ก ก็ได้สร้างแพลตฟอร์ม Lasso เพื่อทดสอบเทรนด์ดังกล่าว โดยเริ่มจากประเทศเม็กซิโก กลยุทธ์ของเฟซบุ๊ก คือ การเริ่มเข้าไปตีตลาดในประเทศที่ TikTok ยังไม่ได้เป็นผู้นำ และถ้าหากทำได้ดี เฟซบุ๊กก็จะเริ่มเข้าไปแข่งขันในประเทศที่ TikTok กำลังครอบครองอยู่อย่างไรก็ตาม มาร์ก มองว่า TikTok เติบโตเร็ว เพราะ TikTok ใช้งบโปรโมตหนักมาก ซึ่งเขารู้มาว่า จริงๆ แล้วตัวเลขผู้ใช้งาน TikTok ไม่ได้แข็งแกร่งขนาดนั้น เมื่อ TikTok หยุดโฆษณา..
————————– ทำไม มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ไม่ไปพบรัฐบาลอื่น ๆ
มีคนจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับเฟซบุ๊ก เพราะพวกเขาคิดว่าบริษัทเรามีอำนาจมหาศาล พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทำให้ความกังวลเหล่านั้นตกมาที่มาร์กด้วย ในฐานะที่เขาเป็นผู้ที่มีอำนาจควบคุมในบริษัท สิ่งที่เฟซบุ๊กทำมาตลอดก็คือ การโฟกัสในสิ่งที่ถูกต้อง ในช่วงที่เฟซบุ๊กนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาด สิ่งที่บริษัทเน้นกลับไม่ใช่การหารายได้ ซึ่งเป็นการตอบสนองความต้องการของนักลงทุน แต่เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องสำหรับลูกค้า อย่างไรก็ตาม เรื่องของคำวิจารณ์ก็เป็นสิทธิ์ของทุกคนแต่ในความเป็นจริงแล้ว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก คงไม่สามารถไปปรากฏตัวเพื่อรับฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ได้ทั้งหมด
อย่างในกรณีของคดี Cambridge Analytica มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เดินทางไปพบฝั่งรัฐบาลของสหรัฐอเมริกา และยุโรปแต่ก็คงไม่สมเหตุสมผลที่เขาจะต้องเดินทางไปหารัฐบาลของทุกประเทศที่ต้องการพบตัวเขาซึ่งจริง ๆ แล้ว คนเหล่านั้นไม่มีอำนาจทางกฎหมายที่จะทำแบบนั้นด้วยซ้ำ แม้ว่าหลายคนจะใช้เรื่องนี้เป็นข้อวิจารณ์เฟซบุ๊ก แต่มาร์กก็มองว่าเป็นเรื่องปกติ และเป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม มาร์กยังคงให้ความสำคัญกับการกระทำของเขาซึ่งจะกระทบต่อบริษัท และในอนาคตเฟซบุ๊กก็ยังต้องพบกับคำวิจารณ์อีกมาก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความกังวลในตัว มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เอง หรือเพราะที่เฟซบุ๊กเป็นบริษัทเทคโนโลยี ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์เป็นกังวลว่า กฎหมายควบคุมเฟซบุ๊กอย่างเหมาะสมหรือไม่ เพราะเฟซบุ๊กเป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่สุดในโลกเราจึงจำเป็นต้องรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างเจียมตัว..
พนักงานเฟซบุ๊ก ควรบอกกับเพื่อนที่ไม่ชอบเฟซบุ๊ก อย่างไร?
เฟซบุ๊กจะโฟกัสกับสิ่งที่จะทำ และลงมือทำมันออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้น ต้องยอมรับว่าในช่วง 10 ปีแรกของบริษัท บริษัทเราโดดเด่นในสายตาคนอื่นเกินกว่าที่ควรจะเป็น และไม่ใช่แค่เฟซบุ๊ก แต่ยังรวมถึงบริษัทเทคโนโลยีทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องการเลือกตั้งในปี 2016 และผู้คนก็รับรู้ถึงเรื่องราวปัญหาได้มากขึ้น เหมือนลูกตุ้มกำลังแกว่งไปมาอย่างไรก็ตาม เรื่องร้ายๆ มันไม่ได้เกิดขึ้นจากเฟซบุ๊กทั้งหมดสิ่งที่เราพอจะตอบกับคนที่ไม่ชอบเฟซบุ๊กได้ก็คือ ทำความเข้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น และพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพวกเขา และทำให้เขารู้ว่าเรากำลังแก้ไขปัญหาเหล่านี้อยู่
เฟซบุ๊กจัดการอย่างไร กับคนที่คัดกรองเนื้อหา
อย่างที่เรารู้กันว่า เฟซบุ๊กจะต้องรองรับคอนเทนต์นับล้านต่อชั่วโมง และมีการจ้างบริษัทเอาต์ซอร์สเพื่อช่วยคัดกรองคอนเทนต์เหล่านี้ ซึ่งอาจมีคอนเทนต์แย่ๆ ที่ทำร้ายจิตใจปรากฏให้เห็นนั่นคือสิ่งที่เฟซบุ๊กให้ความสำคัญมาก ๆ เฟซบุ๊กทำงานกับบริษัทมากมายทั่วโลก ซึ่งมีการใช้หลากหลายภาษา แต่สิ่งที่ท้าทายก็คือ เฟซบุ๊กจะทำอย่างไรให้พนักงานในบริษัทเหล่านั้นรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรา และได้รับการดูแลที่เท่าเทียมไม่ต่างจากการเป็นพนักงานของเฟซบุ๊กเอง
ความจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะต้องอ่านแต่โพสต์ที่ไม่ดีตลอดทั้งวัน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการเข้ารับการปรึกษา พักเบรก เพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ และนี่ก็เป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กเองไม่ได้นิ่งนอนใจที่จะช่วยเหลือในจุด ๆ นี้ เฟซบุ๊กมีพนักงาน มากกว่า 30,000 คนมาคอยตรวจสอบคอนเทนต์ ที่มีประมาณ 1 แสนล้านคอนเทนต์ต่อวัน ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงมาก ทำให้ความจำเป็นในการคัดกรองโพสต์เหล่านี้ก็ยิ่งสูงขึ้นไปด้วย แต่เฟซบุ๊กก็ยังยืนยันว่า เฟซบุ๊กให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้เช่นกัน และต้องการให้พวกเขาได้รับการดูแลและช่วยเหลืออย่างดีที่สุด
ทีมวิศวกรของเฟซบุ๊กกำลังโฟกัสอยู่เช่นกัน เฟซบุ๊กได้คิดค้นเทคโนโลยีตรวจจับคอนเทนต์ที่มีลักษณะคล้ายๆ กัน ซึ่งถ้าหากโพสต์นั้นมีคนมองว่ามันดูมีเนื้อหาที่ไม่ดี เราก็จะสามารถตรวจจับโพสต์ที่มีลักษณะคล้ายๆ กันได้โดยที่ไม่ต้องให้คนมาดูซ้ำ หรืออย่างการเบลอร์บางส่วนของรูป การเปลี่ยนสีเป็นรูปขาวดำ เรากำลังพยายามอย่างมากเพื่อที่จะให้คนที่คัดกรองนั้นไม่ต้องได้รับผลกระทบทางอารมณ์
ต่อมาเป็นคำถามที่ว่า ทำไม มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ต้องมีอำนาจควบคุมสูงสุดในบริษัท
เรื่องนี้หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะถือหุ้นคลาสพิเศษ ที่ถึงแม้ว่าจะถือหุ้นในบริษัทแค่ 20% แต่ก็มีพลังโหวตที่สามารถควบคุมบริษัทได้แบบเบ็ดเสร็จ เรื่องนี้ต้องย้อนไปกว่า 13 ปีก่อน ในตอนนั้นเฟซบุ๊กยังเป็นเพียงแพลตฟอร์มในมหาวิทยาลัย และเพิ่งคิดค้น News Feed ได้สำเร็จกำลังจะเปิดตัว โดยในตอนนั้น มีข้อเสนอซื้อเฟซบุ๊กจาก Yahoo! เป็นมูลค่ากว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งมากพอที่จะทำให้ผู้ก่อตั้งทั้งหมดมีเงินใช้ไปตลอดชีวิต..
ตอนนั้น ผู้ใช้งานบนเฟซบุ๊กมีเพียง 10 ล้านคน ในขณะที่แพลตฟอร์มคู่แข่งชื่อ Myspace มีผู้ใช้งานกว่า 100 ล้านคน ซึ่งโดยทั่วไป หลายคนก็คงเลือกที่จะรับเงินก้อนโต เพราะสิ่งที่กำลังทำอยู่เล็กกว่าเจ้าตลาดกว่า 10 เท่า แต่เรื่องทั้งหมดนี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เลือกที่จะไม่ขายเฟซบุ๊ก ซึ่งถ้าเขาไม่มีอำนาจคุมบริษัทเขาจะต้องสูญเสียเฟซบุ๊กให้กับ Yahoo! ในตอนนั้น
ในตอนนั้น นักลงทุนของเฟซบุ๊กหลายคนไม่เข้าใจว่า News Feed คืออะไร นักลงทุนผู้มากประสบการณ์ต่างบอกว่า การตัดสินใจครั้งนี้ จะทำให้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เสียใจไปตลอดชีวิต ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตอน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก อายุ 22 ปี ซึ่งเขาคิดแค่เพียงทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับ เฟซบุ๊ก ควรเป็นการตัดสินใจระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการผลตอบแทนระยะสั้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งเรื่องที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ให้ความสำคัญก็คือ การสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก
เรื่องนี้ทำให้เฟซบุ๊กวิจัยอย่างหนัก จนสามารถหาข้อสรุปได้ว่า จริงๆ แล้ว ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตแบ่งออกเป็น 2 ประเภท หลักๆ ก็คือ
อินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อกับผู้คน และทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน
อินเทอร์เน็ตที่ทำให้ผู้คนเสพคอนเทนต์แบบ passive ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กัน
ทั้ง 2 แบบนี้ต่างกันโดยสิ้นเชิง ยกตัวอย่างเช่น หากเราเปิด YouTube ระบบจะแนะนำคอนเทนต์ให้กับเรา มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มองว่า มันไม่ได้ช่วยให้เราเชื่อมต่ออะไรกับใครทั้งสิ้น ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว มันไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นแต่อย่างใด และเมื่อเรามานั่งดูวิดีโอแบบ passive นั่นหมายถึงการแย่งโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นออกไป
แต่สำหรับ เฟซบุ๊ก ที่มีเป้าหมายชัดเจนที่จะเชื่อมต่อเพื่อน และครอบครัวอย่างชัดเจน และนั่นก็เป็นสิ่งที่ทำให้เฟซบุ๊กตัดสินใจปรับสมดุลของระบบให้คนมองเห็นเพื่อนและครอบครัวมากขึ้น เฟซบุ๊กเปลี่ยนระบบหลายอย่าง และหนึ่งในนั้นคือ ตัดวิดีโอที่เป็นไวรัลต่างๆ ไปถึง 50 ล้านชั่วโมงต่อวัน ซึ่งในที่สุด การมีอำนาจเด็ดขาดในบริษัทของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ทำให้เฟซบุ๊กมีตัวตนที่เป็นอย่างทุกวันนี้ และกลายมาเป็นสังคมระหว่างเพื่อน และครอบครัว อย่างที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ตั้งใจไว้เมื่อ 13 ปีที่แล้ว
เรื่องสุดท้ายเป็นเรื่อง การรวมร่างระหว่างสมองกับคอมพิวเตอร์
“หากคุณคิดว่าการเปิดตัว Libra มีอุปสรรคมากมาย..ผมก็ไม่อยากให้ เฟซบุ๊กกำลังจะศัลยกรรมสมอง ผมไม่อยากให้รัฐสภาสหรัฐฯ เรียกตัวผมเข้าไปพบอีก” มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก บอกว่า เทคโนโลยีเชื่อมสมองเป็นนวัตกรรมที่น่าตื่นเต้น ปัจจุบัน ทฤษฎีเชื่อมสมองกับคอมพิวเตอร์ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ประเภทแรก คือ การศัลยกรรมเพื่อฝังชิปและเส้นใยสื่อประสาทเข้าไปในสมองโดยตรง แบบที่ อีลอน มัสก์ นำเสนอเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาภายใต้บริษัท Neuralink ข้อดีหลักๆ ของการฝังชิปเข้าสมองโดยตรง ก็คือ ความแม่นยำ และประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ก เลือกประเภทที่ 2 คือจะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับสมองโดยตรง แต่จะพัฒนาอุปกรณ์เพื่อรับสัญญาณจากสมอง ทั้งหมดนี้ จะถูกนำไปต่อยอดร่วมกับเทคโนโลยี AR และ VR ที่กำลังจะเป็นก้าวต่อไปของบริษัทเฟซบุ๊ก
ซึ่งการอัปเดตล่าสุดจากเฟซบุ๊กก็คือ การเข้าซื้อกิจการ CTRL-Labs บริษัทวิจัยพัฒนาอุปกรณ์รับสัญญาณสื่อประสาท รวมไปถึงการเปิดตัวโลกเสมือน Facebook Horizon และเขาหวังว่าเทคโนโลยีของเฟซบุ๊กในอนาคต จะทำให้เราไม่จำเป็นต้องใช้มือ เพียงแค่คิดก็พิมพ์สิ่งที่อยากเขียนได้ โดยไม่ต้องมอง หรือใช้มือในการควบคุม..
สรุปความคิด มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ในมุมมองของ ลงทุนแมน
จากบทความทั้งหมดจะเห็นได้ว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประสบความสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้ได้ เพราะมีความคิดไม่เหมือนคนอื่นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นคนที่โฟกัสในเรื่อง Core Value ที่จะทำให้บริษัทแข็งแกร่งในระยะยาว เขาไม่ได้สนใจเหตุการณ์ในระยะสั้น ต่อให้มีเงินมากองเป็นหมื่นล้าน เขาก็ไม่สนใจ เขาสนใจคุณค่าในสิ่งที่เขากำลังสร้างในระยะยาว
ยกตัวอย่างเหตุการณ์ ลด Reach ของเพจ และเพิ่ม Reach ของเพื่อน เขารู้ว่าเรื่อง Public Content เป็นเรื่องที่คนชอบ และจะเพิ่มรายได้โฆษณาให้เฟซบุ๊ก การลด Reach ของเพจ มีความเสี่ยงที่ทำให้เพจไม่ผลิตเนื้อหาให้เฟซบุ๊ก แต่เขาไม่สนใจ เพราะเขาโฟกัสใน Core Value ของเฟซบุ๊กว่า คนจะรู้สึกดีถ้าได้เชื่อมต่อกับเพื่อน กับครอบครัว และมีปฏิสัมพันธ์กัน มากกว่าการรับรู้ข้อมูลแบบ passive ซึ่งหาได้จากแพลตฟอร์มอื่นทั่วไป
เรื่องนี้เป็นการพิสูจน์ว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะพยายามมองหาสิ่งที่เป็นแก่นของระบบ และมั่นใจที่จะยืนหยัด ถึงแม้ว่าจะมีคนวิจารณ์เขามากแค่ไหนก็ตามเหตุการณ์ Yahoo! ขอซื้อเฟซบุ๊ก 30,000 ล้านบาท ในขณะที่ตอนนั้นเฟซบุ๊กยังตามหลังคู่แข่ง 10 เท่า นักลงทุนบอกให้ขาย.. มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ปฏิเสธในทันที เพราะเขาเชื่อในระบบ News Feed ที่กำลังจะเปิดตัว ในขณะที่นักลงทุนคนอื่นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า News Feed คืออะไร คนอื่นสนใจแค่เงินหมื่นล้านที่มากองอยู่ตรงหน้า
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก มีความมั่นใจถึงขั้นนี้ได้ เพราะเขาลงมือพัฒนาระบบมากับมือ เขารู้ว่าผู้คนจะต้องชอบมัน และเขารู้ว่าจะมีคนอีกจำนวนมากเข้ามาใช้เฟซบุ๊กในอนาคต เขาไม่กลัวคู่แข่งที่เหนือกว่า 10 เท่า เพราะเขารู้ดีว่าคู่แข่งมีอะไร และเขากำลังจะมีอะไรและ สิ่งที่เกิดขึ้น มันก็พิสูจน์แล้วว่า ระบบ News Feed ที่เขาสร้างขึ้นเมื่อ 13 ปีที่แล้ว ตอนนี้ 2,400 ล้านคนทั่วโลกกำลังใช้งานมันอยู่ ถ้าให้ News Feed เป็นสินค้า ก็คงต้องบอกว่า สินค้าชนิดนี้มีคนใช้มากสุดในโลก ใช้อย่างหนักหน่วง และ ยากที่จะเลิกใช้มัน.. และเฟซบุ๊กที่ Yahoo! ยื่นข้อเสนอ 30,000 ล้านบาทในวันนั้น ก็ได้กลายเป็น 15,000,000 ล้านบาทในวันนี้..
ที่มาบทความ : ลงทุนแมน