ตอนที่ 18 – ครอบครัวล่มสลาย
Last updated
Last updated
ถ้าเอาคนทั้งโลกมาชั่งน้ำหนักรวมกัน พวกเราจะหนักประมาณ 300 ล้านตัน
ถ้าเอาสัตว์เลี้ยงและสัตว์ในฟาร์มทั้งโลกมาชั่งรวมกัน พวกมันจะหนัก 700 ล้านตัน
แต่ถ้าเอาสัตว์ป่าทั่วโลกมาชั่งรวมกัน จะหนักเพียง 100 ล้านตันเท่านั้น
ทั่วโลกมียีราฟอยู่ 80,000 ตัว แต่มีวัวถึง 1.5 พันล้านตัว
มีหมาป่า 200,000 ตัว แต่มีหมา 400 ล้านตัว
มีลิงชิมแปนซี 250,000 ตัว เทียบกับมนุษย์ 7 พันล้านคน
มนุษย์ได้ขึ้นมาครองโลกอย่างแท้จริง
ในบทที่แล้วเราพูดถึงความสามารถของมนุษย์ที่จะสรรหาวัตถุดิบและแหล่งพลังงานใหม่ๆ แต่สิ่งหนึ่งเราหลีกเลี่ยงไม่ได้คือความเสื่อมโทรมทางธรรมชาติที่มนุษย์ได้ก่อขึ้นไปทั่วหัวระแหง
เราชอบพูดกันว่ามนุษย์นั้นทำลายธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วธรรมชาติไม่อาจถูกทำลายได้ มันแค่เปลี่ยนไปเท่านั้นเอง
เมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว มีอุกกาบาตตกมายังโลกและทำให้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ ซึ่งจะว่าไปแล้วมันก็เป็นการเปิดทางให้สิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ อย่าง Homo Sapiens ขึ้นมาลืมตาอ้าปากได้
ในวันนี้มนุษย์อาจจะกำลังทำให้สัตว์ป่าจำนวนมากสูญพันธุ์ รวมถึงเผ่าพันธุ์ของตัวเองด้วย แต่สัตว์ตระกูลอื่นๆ อย่างหนูกับแมลงสาบก็ยังอยู่ดีมีสุข หากเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้น ก็เชื่อได้เลยว่าหนูจำนวนมากจะคลานออกมาจากซากปรักหักพังและขยายเผ่าพันธุ์ได้อยู่ดี
ใครจะรู้ อีก 65 ล้านปีต่อจากนี้ หนูอาจจะครองโลก และบรรดาหนูอัจฉริยะเหล่านั้นอาจรู้สึกขอบคุณที่เกิดสงครามนิวเคลียร์ เหมือนกับที่มนุษย์รู้สึกขอบคุณที่อุกกาบาตชนโลกและล้างเผ่าพันธุ์ไดโนเสาร์ให้พวกเรา
—– นาฬิกาตรงเวลาเรือนแรก —–
ก่อนจะเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมนั้น มนุษย์ไม่เคยต้องสนใจเรื่องเวลา เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือสภาพอากาศและแสงแดด
สมัยก่อนช่างทำรองเท้าหนึ่งคนจะทำทุกส่วนของรองเท้า ดังนั้น หากช่างทำรองเท้าคนหนึ่งนอนตื่นสาย ก็ไม่มีผลกระทบอะไรกับช่างทำรองเท้าคนอื่น
แต่เมื่อการผลิตรองเท้าถูกเปลี่ยนไปอยู่ในโรงงาน แต่ละคนจะรับหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งในสายพานการผลิต หากมีพนักงานคนไหนมาสาย ย่อมหมายถึงการผลิตที่หยุดชะงัก
การมีตารางเวลาจึงสำคัญมาก ทุกคนต้องเข้างานพร้อมกัน กินข้าวเที่ยงพร้อมกัน (แม้จะยังไม่หิว) และเก็บของกลับบ้านเมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งหมดเวลาโดยไม่สนว่างานเสร็จหรือไม่
การปฏิวัติอุตสาหกรรมจึงทำให้ตารางเวลาและสายพานการผลิตเป็นตัวกำหนดกิจกรรมอื่นๆ ของมนุษย์ ไม่ช้าไม่นาน โรงเรียน โรงพยาบาล และรัฐบาลก็เริ่มมีตารางเวลากับเขาบ้าง แม้กระทั่งสถานที่ๆ ไม่มีสายพานการผลิตอย่างผับก็ยังต้องให้ความสำคัญกับตารางเวลา เพราะถ้าคนเลิกงานตอน 5 โมงเย็น ผับก็ควรจะเปิดตอน 5 โมง 5 นาทีเป็นอย่างช้า
สมัยก่อนนั้นยังไม่มีเวลามาตรฐานของประเทศ แต่ละเมืองจึงมีเวลาเป็นของตัวเอง ถ้าตอนนี้เป็นเวลาเที่ยงตรงในลอนดอน ที่ลิเวอร์พูลอาจจะเป็นเวลาเที่ยงยี่สิบ แต่ในเมื่อสมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพท์ ไม่มีวิทยุ ไม่มีโทรทัศน์ และไม่มีรถไฟ เวลาที่ต่างกันจึงไม่ได้เป็นปัญหาอะไร
ในปี 1830 ขบวนรถไฟพาณิชย์เที่ยวแรกเริ่มให้บริการระหว่างแมนเชสเตอร์กับลิเวอร์พูล อีก 10 ปีต่อมาตารางเวลารถไฟฉบับแรกก็ถูกตีพิมพ์ และเวลาของแต่ละเมืองที่ไม่ตรงกันจึงเริ่มสร้างปัญหา ในปี 1847 บริษัทรถไฟต่างๆ จึงตกลงกันว่าตารางเวลาการเดินรถทั้งหมดจะอิงกับหอดูดาวกรีนิช (Greenwich Observatory) ในปี 1880 รัฐบาลอังกฤษจึงตัดสินใจบังคับให้ตารางต่างๆ ทั้งหมดอ้างอิงกับเวลากรีนิช นี่เป็นครั้งแรกของโลกที่ประเทศท้้งประเทศเลือกใช้เวลาเดียวกันหมด
—– ครอบครัวล่มสลาย —– นอกจากการใช้เวลาสากลแล้ว อีกผลกระทบหนึ่งจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมคือการลดบทบาทครอบครัวและชุมชน และเพิ่มบทบาทให้กับรัฐและตลาด
เป็นเวลานับหลายแสนปีที่มนุษย์และบรรพบุรุษอยู่กันเป็นชุมชนเล็กๆ แม้การมาถึงของ Cognitive Revolution หรือ Agricultural Revolution ก็ไม่ได้ทำให้พฤติกรรมนี้เปลี่ยนไป เพราะถึงหมู่บ้านจะใหญ่ขึ้นจนเป็นเมืองหรืออาณาจักร แต่มนุษย์ก็ยังเหนียวแน่นกับญาติพี่น้องที่เป็นหน่อเนื้อเชื้อไขอยู่ดี
แต่ภายในเวลาเพียง 200 ปี การปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบนี้ไปตลอดกาล
ในสมัยก่อน ครอบครัวของคุณจะดูแลคุณในทุกภาคส่วนของชีวิต ทั้งสวัสดิการ การศึกษา แหล่งเงินทุน ประกันภัย หรือแม้กระทั่งดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
หากใครคนหนึ่งป่วย ครอบครัวจะคอยช่วยป้อนน้ำป้อนข้าว ถ้าใครแก่ชรา ลูกหลานก็จะดูแล หากใครอยากสร้างบ้าน ครอบครัวก็จะช่วยกันออกแรง ถ้าใครอยากทำธุรกิจ ครอบครัวก็จะช่วยหาเงินมาสนับสนุน ถ้าใครจะแต่งงาน ครอบครัวจะช่วยเลือกคู่ให้ ถ้าใครมีปัญหากับเพื่อนบ้าน ครอบครัวจะเข้ามาช่วยไกล่เกลี่ย แต่ถ้าปัญหาใดๆ ใหญ่เกินกว่าที่ครอบครัวจะรับมือได้ ชุมชนก็จะเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้วยอีกแรง
พระราชาและรัฐของแต่ละเมืองนั้นมีบทบาทเป็นเพียง Godfather ของเมืองนั้นๆ หน้าที่หลักของท่านคือการปกป้องคุ้มครองพสกนิกรไม่ให้คนเมืองอื่นมารังแก
แต่รัฐไม่ได้ถูกคาดหวังให้ทำอะไรมากกว่านี้ เพราะการเกษตรสมัยก่อนไม่ได้มีผลผลิตมากมาย ส่วยและภาษีที่รัฐเก็บได้จึงเพียงพอแค่เลี้ยงกองทัพและคนแค่หยิบมือ ไม่อาจนำไปจ้างข้าราชการ ตำรวจ หรือนักสังคมสงเคราะห์ได้ ครอบครัวและชุมชนจึงต้องดูแลกันเอง
ในสมัยจักรวรรดิออตโตมัน รัฐจะปล่อยให้แต่ละบ้านสะสางความยุติธรรมกันเอาเอง ถ้าคนอีกตระกูลหนึ่งมาฆ่าพี่ชายของผม ผมก็สามารถกลับไปฆ่าคนของตระกูลนั้นเพื่อเป็นการล้างแค้นได้โดยรัฐจะไม่เข้ามาขัดขวาง ตราบใดที่ความขัดแย้งนี้ไม่ลุกลามใหญ่โตจนเกินไป
ในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368-1644) จะมีระบบที่เรียกว่าเป๋าเจี่ย (baojia) ครอบครัว 10 ครอบครัวจะรวมตัวกันเป็น 1 เจี่ย และ 10 เจี่ย คือ 1 เป๋า ถ้าใครคนใดในเป๋าทำผิด สมาชิกอื่นๆ ในเป๋านั้น (โดยเฉพาะสมาชิกอาวุโส) ก็อาจโดนลงโทษไปด้วย และสมาชิกอาวุโสเหล่านี้ก็มีหน้าที่ประเมินว่าในเป๋าของตัวเองมีรายได้เท่าไหร่เพื่อเก็บภาษีในจำนวนที่เหมาะสมนำส่งรัฐ ระบบนี้มีประโยชน์อย่างมากเพราะรัฐไม่จำเป็นต้องเปลืองตังค์จ้างเจ้าหน้าที่รัฐมาคอยสังเกตการณ์และเก็บส่วยเลย
ข้อเสียอย่างหนึ่งของวิถีชีวิตแบบนี้ก็คือ หากใครสูญเสียครอบครัวหรือถูกขับออกจากครอบครัวก็จะเหมือนคนไร้แขนขา กลายเป็นคนไม่มีบ้าน ไม่มีงานทำ ไม่มีใครกล้ารับเข้าทำงาน ไม่มีใครให้ยืมเงิน ไม่มีใครดูแลยามป่วยไข้ คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์นี้จึงต้องเร่งหาครอบครัวใหม่โดยเร็ว
แต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้มีเงินทุนในตลาดมากขึ้น เมื่อเกิดการเติบโต รัฐก็เก็บภาษีได้มากขึ้น และเพียงพอที่จะนำมาจ้างเจ้าหน้าที่รัฐ รัฐจึงเริ่มใช้อำนาจที่ตัวเองมีในการลดทอนสายสัมพันธ์ในครอบครัวและชุมชนลง การแก้แค้นกันระหว่างครอบครัวจึงถูกแทนที่ด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลสถิตยุติธรรม ธุรกิจครอบครัวจึงถูกแทนที่ด้วยโรงงานอุตสาหกรรมและแรงขับเคลื่อนของตลาด
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำลายสายสัมพันธ์ในครอบครัวลงก็คือทัศนติที่เปลี่ยนไป
รัฐและตลาดจะบอกกับคนรุ่นใหม่ว่า “คุณคือปัจเจกชน นี่คือชีวิตของคุณคนเดียว ดังนั้นอยากแต่งงานกับใครก็จงแต่งโดยไม่ต้องขออนุญาตครอบครัว อยากทำงานอะไรก็จงทำแม้ว่าครอบครัวจะไม่สนับสนุน อยากอยู่ที่ไหนก็จงอยู่ไป แม้ว่านั่นจะหมายความว่าคุณจะไม่ได้เจอหน้าครอบครัวทุกวัน คุณไม่จำเป็นต้องพึ่งพาครอบครัวเหมือนแต่ก่อนแล้ว จากนี้เราจะดูแลคุณเอง ทั้งอาหาร ที่พัก การศึกษา สุขภาพ สวัสดิการ และการจ้างงาน”
สรรพากรและศาลจึงปฏิบัติกับเราเป็นปัจเจกชน และไม่ได้คาดหวังให้เราถูกลงโทษหรือถูกเก็บภาษีแทนคนในครอบครัวอีกต่อไป
—– ชุมชนในจินตนาการ —–
ชุมชนในจินตนาการหรือ Imagined Communities นั้นมีมานานแล้ว ในแผ่นดินจีนสมัยก่อน พสกนิกรนับล้านต่างเชื่อว่าทุกคนต่างอยู่ในครอบครัวเดียวกันโดยมีองค์จักรพรรดิเป็นพ่อของแผ่นดิน คนมุสลิมก็เชื่อว่ามุสลิมทั้งผองเป็นพี่น้องกัน แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ยังมีบทบาทเป็นรองเมื่อเทียบกับความเป็นกลุ่มก้อนในชุมชนที่ตัวเองอาศัยอยู่
ในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ชุมชนในจินตนาการที่มีบทบาทมากที่สุดคือ คือรัฐชาติ (nation state) และ กลุ่มผู้บริโภค (consumer tribe)
รัฐชาตินั้นอาจมีมานานแล้วก็จริง แต่คนสมัยก่อนไม่ได้ให้ความสำคัญกับความเป็นชาติขนาดนั้นเพราะครอบครัวมีบทบาทในชีวิตมากกว่าเยอะ รัฐชาติที่เรารู้จักส่วนใหญ่ในปัจจุบันเพิ่งจะเกิดขึ้นหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมมานี่เอง
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในตะวันออกกลาง ที่ประเทศซีเรีย เลบานอน จอร์แดนและอิรักนั้นเกิดจากการขีดเส้นแบ่งอาณาเขตเอาเองของพวกฑูตฝรั่งเศสและอังกฤษซึ่งไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ของพื้นที่เลย ในปี 1918 ฑูตเหล่านี้ตัดสินใจเองว่าคนในเคอร์ดิสถาน แบกแดด และ บาซราจะถูกเรียกว่าชาวอิรัก ส่วนคนอีกพื้นที่นึงจะเรียกว่าชาวซีเรีย
อีกหนึ่งชุมชนในจินตนาการนั้นคือ Consumer Tribe ที่อ้างอิงจากสิ่งที่เราเสพหรือบริโภคร่วมกัน เราจึงเรียกตัวเองว่าแฟนคลับของมาดอนน่า หรือกองเชียร์แมนยู เราทุกคนมองว่าตัวเองเป็นหนึ่งในกลุ่มคนเหล่านี้เพราะเราซื้อของหรือบริการจากแหล่งเดียวกัน
—– สันติภาพอันยืนยง —– พวกเราส่วนใหญ่อาจยังไม่สำเหนียกว่ายุคที่เราอยู่ตอนนี้มีความสงบสุขแค่ไหน
ในปี 2002 มีคนตาย 57 ล้านคน คนที่ตายในสงครามหรือการฆาตกรรมมี 741,000 แต่คนที่ฆ่าตัวตายมีถึง 873,000 คน ดังนั้นในโลกยุคใหม่คุณมีโอกาสจะตายจากน้ำมือตนเองมากกว่าน้ำมือคนอื่นเสียอีก
ยุโรปในช่วงยุคกลาง (ศตวรรษ 5-15) 20-40 คนในประชากร 100,000 คนจะตายเพราะความรุนแรงที่มนุษย์ก่อขึ้น แต่ปัจจุบันตัวเลขนี้เหลือเพียง 1 ใน 100,000 คนเท่านั้น
เหตุผลหลักที่ความรุนแรงที่ลดลงนั้นเกิดจากความเข้มแข็งของรัฐที่มีกำลังตำรวจในการบังคับใช้กฎหมายและดูแลบ้านเมืองให้สงบสุข
อีกเหตุผลหนึ่งที่ความรุนแรงระดับนานาชาติลดลงก็คือการสิ้นสุดของยุคล่าอาณานิคม เมื่อ 70 ปีที่แล้วอังกฤษปกครองพื้นที่ถึง 1/4 ของโลก แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาอังกฤษได้ถอนตัวออกจากประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมโดยมีการเสียเลือดเสียเนื้อน้อยมาก
การถอนตัวของจักรวรรดิฝรั่งเศสมีความรุนแรงมากกว่า และคนนับแสนคนในเวียดนามและอัลจีเรียต้องสังเวยชีวิตในช่วงถ่ายเทอำนาจ แต่หลังจากฝรั่งเศสคืนอำนาจอธิปไตยเสร็จเรียบร้อย ประเทศเหล่านี้ก็อยู่กันอย่างสงบสุข
สหภาพโซเวียตก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการคืนอำนาจให้กับผู้คนในพื้นที่โดยไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ ทั้งๆ ที่รัฐมีกำลังทหารและอาวุธร้ายแรงอยู่มากมาย แต่ก็ไม่เคยคิดนำมันมาใช้ทำร้ายประชาชน ในวันที่ผู้มีอำนาจเห็นแล้วว่าการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ไม่เวิร์ค พวกเขาก็พร้อมลงจากอำนาจโดยดุษณีย์
—– ระเบิดนิวเคลียร์สันติภาพ —– นับตั้งแต่ปี 1945 เป็นต้นมา ไม่เคยมีประเทศใดถูกยึดครองหรือล่มสลายอีกเลย แม้จะยังมีสงครามและมีคนตายในสงครามไปนับล้านคน แต่สงครามไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป
สันติภาพไม่ใช่แค่เพียงสภาวะที่ไร้สงคราม แต่เป็นสภาวะที่สงครามยากที่จะเกิดขึ้นด้วย (implausibility of war) ก่อนปี 1900 มีกฎแห่งป่าดงดิบ (Law of the Jungle) ที่กล่าวไว้ว่า หากมีรัฐสองรัฐที่อยู่ติดกัน มันจะมีสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งที่จะทำให้สองประเทศนี้สู้รบกันภายใน 1 ปีข้างหน้าได้ ยุโรปในยุคนั้นจึงมีโอกาสเกิดสงครามได้ตลอดเวลา กองทัพ นักการเมือง และประชาชนต่างก็เตรียมพร้อมสำหรับการมาถึงของสงครามอยู่เสมอ
แต่ในสมัยนี้ โอกาสที่ประเทศที่มีชายแดนติดกันจะประกาศสงครามนั้นเป็นไปได้ยากมาก เราจะนึกไม่ออกเลยว่าจะมีอะไรที่จะทำให้เยอรมันนียกกองทัพรุกรานฝรั่งเศส หรือทำให้ประเทศจีนประกาศศึกกับญี่ปุ่น
มีเหตุผลสามสี่ข้อที่ทำให้โลกสงบสุขอย่างทุกวันนี้
อย่างแรกคือระเบิดนิวเคลียร์ จริงๆ แล้วนายโรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์และทีมงานที่สร้างระเบิดนิวเคลียร์นั้นควรจะได้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาได้สร้างเทคโนโลยีที่ทำให้การเอาชนะกันด้วยอาวุธกลายมาเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ (collective suicide) ประเทศมหาอำนาจล้วนแล้วแต่มีอาวุธนิวเคลียร์ การยิงระเบิดนิวเคลียร์ใส่กันย่อมนำไปสู่การสูญเสียมากเกินไป ทุกๆ ฝ่ายจึงต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
เหตุผลที่สองก็คือการทำสงครามนั้นไม่ได้ “สร้างกำไร” เหมือนเก่า ในสมัยก่อนประเทศหนึ่งจะรุกรานอีกประเทศหนึ่งเพราะต้องการนำทรัพยากรธรรมชาติของประเทศนั้นมาสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง แต่สมัยนี้ความมั่งคั่งไม่ได้อยู่ในทรัพยากรธรรมชาติอีกต่อไป
ยกตัวอย่างแคลิฟอร์เนีย ที่เคยสร้างเนื้อสร้างตัวจากการเป็นเหมืองทอง แต่ในสมัยนี้กลับกำลังอู้ฟู่จากซิลิคอนและเซลลูลอยด์ – Silicon Valley และ Celluloid ในฮอลลีวู้ด ถ้าวันนี้จีนตัดสินใจส่งกองทัพนับแสนไปรุกรานแคลิฟอร์เนีย จีนย่อมกลับบ้านมือเปล่า ไม่มีเหมืองซิลิคอนอยู่ในแคลิฟอร์เนีย เพราะ “ขุมทอง” ที่แท้จริงอยู่ในหัวของโปรแกรมเมอร์ของกูเกิ้ลและผู้กำกับฮอลลีวู้ด ซึ่งคนเหล่านี้คงขึ้นเครื่องบินไปอยู่ที่อื่นก่อนที่กองทัพจีนจะมาถึงเสียอีก
สังเกตได้ว่าสงครามระดับประเทศที่ยังเกิดขึ้นในยุคนี้มักจะเกิดในดินแดนที่ความมั่งคั่งยังขึ้นอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่นตอนที่อิรักรุกรานคูเวตเพื่อครอบครองแหล่งน้ำมันเป็นต้น
เหตุผลข้อที่สามคือ ในขณะที่สงครามสร้างกำไรน้อยลง ความสงบสุขนั้นกลับสร้างกำไรได้มากขึ้น เมื่อทุนนิยมเฟื่องฟู การขนส่งและระบบโลจิสติกส์ได้พัฒนาขึ้นมาในระดับที่ทำให้การนำเข้า-ส่งออกสินค้ากลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ การรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศคู่ค้าย่อมส่งผลดีกว่าการทะเลาะกัน ตราบใดที่จีนและอเมริกายังเป็นมิตรต่อกัน จีนย่อมได้ประโยชน์จากการส่งออกสินค้าไปอเมริกาและลงทุนในวอลสตรีทมากกว่าการไปยึดแคลิฟอร์เนียเป็นไหนๆ
เหตุผลข้อสุดท้ายก็คือความเชื่อของผู้นำที่เปลี่ยนไป ในยุคก่อนเก่า ไม่ว่าจะเป็นขุนนางในราชวงศ์ฮั่นหรือนักบวชในอาณาจักรแอซเทคต่างก็มองว่าสงครามเป็นเรื่องดี ส่วนหากจะมีใครมองว่าสงครามเป็นเรื่องไม่ดีก็จะเชื่อว่ามันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องใช้มันให้เปิดประโยชน์กับตัวเองให้มากที่สุด
แต่ยุคนี้เป็นยุคแรกในประวัติศาสตร์ที่เหล่าผู้นำประเทศเกือบทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่าสงครามเป็นเรื่องเลวร้ายและหลีกเลี่ยงได้
นี่คือยุคที่ทุกประเทศต้องพึ่งพากันและกัน จึงไม่มีประเทศไหนทำอะไรตามอำเภอใจได้ เมื่อโลกได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันจนกลายเป็นจักรวรรดิโลก สันติภาพโลกจึงอาจเป็นสิ่งที่เป็นไปได้เช่นกัน
แต่สันติภาพจะคงอยู่อย่างนี้ได้นานเท่าใด? มนุษยชาติอาจกำลังยืนอยู่หน้าประตูสองบาน บานหนึ่งพาเราไปสวรรค์และบานหนึ่งพาเราไปนรก
ยังไม่มีใครตอบได้ว่า สุดท้ายแล้วเราจะเลือกเปิดประตูบานไหน
ที่มาบทความ :https://anontawong.com