ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ
Last updated
Last updated
ทำไมอินเดียถึงมีแบ่งชั้นวรรณะ? ทำไมในอเมริกาคนผิวขาวถึงเหยียดคนผิวดำ? ทำไมผู้ชายถึงเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงในทุกสังคม?
บทความนี้จะอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าวได้ (แม้จะแค่บางส่วนก็ตามที)
เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว ชาวอารยัน (ที่มาจากเปอร์เซีย-ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ได้ย้ายถิ่นฐานลงมาทางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ทำการสู้รบและเอาชนะคนท้องถิ่นได้ จึงยึดครองพื้นที่และทำการแบ่งชนชั้นให้เสร็จสรรพ โดยคนในท้องที่เดิมถูกจัดให้เป็นวรรณะศูทร (กรรมกร) ในขณะที่ชาวอารยันเองนั้นครอบครองวรรณะพราหมณ์ (นักบวช) กษัตริย์ (นักรบ) และแพศย์ (พ่อค้า)
และเพื่อป้องกันการแข็งขืนของคนท้องถิ่น (ซึ่งมีจำนวนมากกว่า) ชาวอารยันก็ได้แต่งคัมภีร์พระเวทมามาอธิบายการแบ่งชนชั้นวรรณะว่าเป็น “เรื่องธรรมชาติ” โดยคัมภีร์ระบุว่าโลกและทุกสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนเกิดจากปฐมธาตุที่ชื่อ “ปุรุษะ” โดยพระอาทิตย์ถือกำเนิดจากตาของปุรุษะ พระจันทร์เกิดจากสมอง พราหมณ์เกิดจากปาก กษัตริย์เกิดจากแขน ส่วนพวกศูทรนั้นเกิดจากเท้าของปุรุษะ
Common Myth หรือเรื่องเล่านี้ทำให้ผู้คนเชื่อว่าพวกศูทรถูกสร้างมาให้เป็นเท้าที่คอยแบกรับวรรณะอื่นๆ อยู่แล้ว และทำให้การแบ่งชนชั้นวรรณะฝังรากลึกในวัฒนธรรมของคนอินเดียมาถึงปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นการ “ผสมวรรณะ” ก็เป็นเรื่องต้องห้ามเพราะจะทำให้วรรณะนั้นๆ แปดเปื้อน ใครก็ตามที่ละเมิดกฎเหล็กข้อนี้ ลูกที่เกิดมาจะถือเป็นจัณฑาลที่ถูกทุกคนรังเกียจ (ภาษาอังกฤษเรียกจัณฑาลว่า Untouchables หรือคนที่ไม่มีใครอยากจะแตะต้องร่างกาย)
ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16-18 ชาวยุโรปที่ไปตั้งรกรากอยู่ในอเมริกาได้นำเข้าทาสจากแอฟริกาหลายล้านคนเพื่อมาช่วยทำเหมืองและทำไร่ เหตุผลที่แรงงานทาสส่วนใหญ่มาจากแอฟริกาก็เพราะว่าอยู่ใกล้กว่าเอเชีย แถมแอฟริกาก็มีตลาดซื้อขายแรงงานทาสรองรับอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ ในหลายพื้นที่ที่ทำไร่นั้นมีโรคมาเลเรียและไข้เหลืองระบาด โรคเหล่านี้ถือกำเนิดในแอฟริกา ชาวแอฟริกาจึงพอจะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว ในขณะที่คนยุโรปไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเหล่านี้เลย และนี่คือตลกร้าย คนแอฟริกาที่มีภูมิคุ้มกันเหนือกว่าคนยุโรป (biological superiority) กลับถูกขายมาเป็นแรงงานชั้นต่ำที่ต้องคอยทำงานรับใช้คนยุโรป (social inferiority)
จากนั้นเป็นต้นมา คนผิวขาวก็รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนผิวดำอยู่เสมอ ตอนที่มีการประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ประโยคทองที่ว่า All men are created equal คนที่ลงชื่อท้ายคำประกาศอย่างจอร์จวอชิงตัน*หรือเบนจามินแฟรงคลินต่างก็ล้วนแล้วแต่มีทาสในครอบครอง และเขาก็ไม่ได้มองว่านี่เป็นเรื่องมือถือสากปากถือศีลด้วย เพราะสำหรับเขาแล้ว “มนุษย์” (men) กับ “คนดำ” (Negroes) เป็นคนละพวกกัน
ในสมัยนั้นมีความพยายามสร้างความชอบธรรมมากมายสำหรับการแบ่งแยกนี้ โดยนักเทววิทยาอ้างว่าชาวแอฟริกันนั้นสืบสายพันธุ์มาจากลูกของโนอาห์ (Noah) ที่ชื่อว่าแฮม (Ham) ซึ่งถูกพ่อตัวเองสาปแช่งเอาไว้ว่าลูกหลานที่เกิดมาจะเป็นทาส ส่วนนักชีววิทยาก็บอกว่าคนดำนั้นฉลาดน้อยกว่าและมีศีลธรรมน้อยกว่าคนขาว และแม้กระทั่งหมอก็บอกว่าคนดำนั้นสกปรกและเป็นพาหะนำโรคแม้ว่าการค้าทาสจะถูกยกเลิกไปนานแล้ว
แต่ความเชื่อที่ว่าคนดำนั้นต่ำต้อยกว่าคนขาวก็ยังฝังรากลึก แม้กระทั่งคนดำเองก็ถูกทำให้เชื่อไปแล้วว่าพวกของตัวเองขี้เกียจกว่าและสกปรกว่าคนขาว ยิ่งตำแหน่งหน้าที่การงานที่มีเกียรติต่างๆ ล้วนแล้วแต่ถูกครอบครองโดยคนผิวขาว คนก็ยิ่งเชื่อขึ้นไปอีกว่าคนผิวดำนั้นด้อยกว่า โดยใช้ตรรกะที่ว่า “ดูสิ นี่ขนาดเลิกทาสมาตั้งนานแล้ว คนดำก็ยังไม่เห็นจะเจริญขึ้นเลย” ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วกฎหมายและอคตินั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้โอกาสเจริญก้าวหน้าของคนดำนั้นต่ำกว่าคนขาวอย่างเทียบไม่ติด ยกตัวอย่างเช่นในปี 1938 ที่นาย Clennon King นักเรียนผิวดำถูกบังคับให้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลบ้า เหตุผลเพียงเพราะว่าไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัย University of Mississippi โดยผู้พิพากษาได้ตัดสินไว้ว่านักศึกษาผิวดำคนนี้ต้องวิกลจริตไปแล้วแน่ๆ ที่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสได้เรียนมหาลัยชั้นนำแห่งนี้!
ความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดจากเรื่องสีผิวหรือวรรณะนั้นเกิดแค่ในบางประเทศเท่านั้น แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศนั้นมีให้เห็นในทุกสังคม โดยเกือบทั้งหมดนั้นผู้ชายจะได้เปรียบกว่าผู้หญิงเสมอ ในหลายสังคมผู้หญิงยังถูกมองเป็นเพียงแค่ทรัพย์สมบัติของพ่อ ของสามี หรือของพี่ชาย การทำผิดอย่างการข่มขืนนั้นจึงถูกจัดว่าเป็นการ “ละเมิดทรัพย์สินส่วนบุคคล” โดย “ผู้เสียหาย” ไม่ใช่ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนแต่เป็นผู้ชายที่เป็นเจ้าของผู้หญิงคนนั้นต่างหาก ส่วนการข่มขืนผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นสมบัติของชายใดนั้นไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ อุปมาเหมือนการที่เราเก็บเหรียญที่ตกอยู่บนถนนได้ก็ไม่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์
สังคมแต่ละสังคมได้สร้างวาทกรรม “ความเป็นชาย” (masculinity) และ “ความเป็นหญิง” (femininity) เพื่อเป็นกรอบในการประพฤติตนในสังคมนั้น ๆ ยกตัวอย่าง หนึ่งในคุณลักษณะความเป็นชายของหลายสังคม คือเขาจะต้องรู้สึกดึงดูดกับเพศตรงข้าม ถ้าชายคนนั้นชอบพอเพศเดียวกันถือเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” หรือ “ผิดธรรมชาติ”แต่จริงๆ แล้วการที่คนๆ หนึ่งจะชอบเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติแต่อย่างใด เพราะอะไรก็ตามที่ชีววิทยาเปิดทางให้ เรื่องนั้นต้องถือเป็น “เรื่องธรรมชาติ” (natural) โดยตัวมันเอง
เรื่องที่ “ผิดธรรมชาติ” อย่างแท้จริงย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้และไม่จำเป็นต้องให้ใครมาห้าม ไม่เคยมีสังคมไหนที่ห้ามผู้ชายสังเคราะห์แสง หรือห้ามผู้หญิงวิ่งเร็วกว่าแสง หรือห้ามอิเลคตรอนประจุลบดึงดูดกันเอง เวลาที่สังคมฝรั่งบอกว่าเรื่องอะไรคือเรื่องธรรมชาติ เราจึงไม่ได้พูดถึงธรรมชาติในเชิงชีววิทยา แต่เรากำลังพูดถึงธรรมชาติในเชิงความเชื่อทางศาสนาคริสต์ที่ว่ามนุษย์ถูกสร้างจากพระเจ้า หากเราปฏิบัติตนสอดคล้องกับความต้องการของพระเจ้า เราก็จะบอกว่านั่นเป็นเรื่องที่ถูกธรรมชาติ แต่ถ้าเราทำอะไรไม่สอดคล้องกับความต้องการของพระองค์ เราก็กำลังทำอะไรที่ผิดธรรมชาติ
สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่หรือที่เรียกว่า patriarchy นั้นมีมาอย่างช้านาน นักวิชาการพยายามจะอธิบายถึงเหตุผลที่อาจจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศในทุกยุคทุกสมัย แต่คำอธิบายเหล่านี้ก็มักจะมีหลักฐานอื่นมาหักล้างเสมอ บางคนเชื่อว่าที่ผู้ชายเป็นใหญ่เพราะแข็งแรงกว่า เพราะสมัยก่อนการผลิตอาหารต้องใช้แรงงาน และเมื่อผู้ชายแข็งแรงกว่าจึงเป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารให้กับสังคม ผู้ชายจึงเป็นกลุ่มคนที่กุมอำนาจมาที่สุดเสมอ
แต่ถ้าใช้ความแข็งแรงเป็นตัวตั้ง เราจะอธิบายได้อย่างไรว่าทำไมตำแหน่งอื่น ๆ ที่แทบไม่ต้องใช้แรงอะไรเลยเช่นนักบวช นักกฎหมาย หรือนักการเมือง ถึงตกอยู่ในมือเพศชายแต่เพียงฝ่ายเดียว? อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าเพราะผู้ชายมีความก้าวร้าวกว่า จึงมักเป็นผู้เริ่มต้นสงครามและเป็นผู้คุมเกมสงคราม ทำให้ขึ้นมามีอำนาจมากกว่าผู้หญิง แต่ก็มีคำถามหักล้างอีกว่า แม้ผู้ชายจะก้าวร้าวกว่า เป็นนักรบที่มีประสิทธิภาพกว่า แต่นั่นหมายความว่าคนที่กุมทัพต้องเป็นผู้ชายด้วยเหรอ? ถ้าคนที่ทำไร่ข้าวโพดเป็นคนผิวดำทั้งหมด คนที่คุมคนงานต้องเป็นคนผิวดำด้วยรึเปล่า? ก็เปล่าเสียหน่อย แล้วเหตุใดผู้หญิงจึงไม่เคยได้รับโอกาสกุมกองทัพบ้าง?
ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าเพราะผู้หญิงต้องอุ้มท้องและดูแลลูก ผู้หญิงจึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายให้ช่วยดูแลลูก คอยปกป้องและหาอาหาร แต่ทำไมผู้หญิงต้องพึ่งพาแต่เพศชายด้วย? ในสังคมอย่างช้างหรือชิมแปนซีโบโนโบ การพึ่งพาคนอื่นให้ช่วยเลี้ยงดูลูกนำพามาซึ่งสังคมที่เพศเมียเป็นใหญ่ด้วยซ้ำ (matriarchy) เพราะเมื่อตัวเมียรู้ตัวว่ามันจำเป็นต้องมีคน(ลิง)คอยช่วยเหลือ มันจึงพัฒนาทักษะในการเข้าสังคมและอยู่ร่วมกับลิงตัวอื่น ลิงกลุ่มนี้จึงสร้างเครือข่าย “มนุษย์แม่” ที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ลิงตัวผู้เอาแต่สู้กับตัวอื่นจนไม่มีเวลามาพัฒนาทักษะทางสังคมเลย
จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เพศหญิงนั้นตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอด แม้ในศตวรรษที่ 21 สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าเมื่อ 100 ปีที่แล้วมาก แต่ในหลายสังคมก็นับว่ายังอยู่ห่างไกล “ความเท่าเทียมกัน” อย่างที่เราฝันถึง