ความฉลาดสร้างได้

enter image description here

“พรสวรรค์มีจริง แต่ไม่ใช่สิ่งที่มีมาตั้งแต่เกิด เพราะพรสวรรค์ที่แท้จริงคือ ‘ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลง’ เพื่อพัฒนาไปสู่สมรรถนะที่ยอดเยี่ยม มหัศจรรย์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง”

ในอดีตคนเราเชื่อว่า ‘ความเก่ง’ หรือ ‘ความฉลาด’ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่สามารถสร้างหรือพัฒนาได้ แต่โลกยุคปัจจุบันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด มนุษย์เราจะเก่งได้ต้องพบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวด้วยกันทั้งสิ้น

ดังตัวอย่างจากหนังสือเรื่อง ‘เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่’ ที่ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เขียนไว้ว่า Growth Mindset (กระบวนทัศน์พัฒนา) คือ ความเชื่อเรื่อง ‘พรแสวง’ ที่ทำให้คนเรามีความอดทน มานะพยายาม หมั่นฝึกฝนตนเอง พยายามเรียนรู้กลยุทธ์ที่ดีในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งตรงข้ามกับ Fixed Mindset (กระบวนทัศน์หยุดนิ่ง) หรือความเชื่อใน ‘พรสวรรค์’ ที่ว่าคนเก่งเก่งมาตั้งแต่เกิด เก่งแล้วเก่งเลย ทำให้เด็กคนนั้นไม่มีความมุมานะพยายามที่จะพัฒนาตนเอง มองความยากลำบาก ความล้มเหลวไปในด้านลบ คือนำไปสู่ความท้อถอย และความล้มเหลวในชีวิต

การเลี้ยงเด็กให้ประสบความสำเร็จในชีวิต พ่อแม่หรือบุคคลใกล้ชิดที่อยู่รายล้อมรอบตัวเด็กต้องช่วยกันปรับความเชื่อใหม่ จากเชื่อเรื่อง ‘พรสวรรค์’ (talent, gifted) มาเป็นเชื่อ ‘พรแสวง’ ที่เด็กต้องผ่านการฝึกฝนเคี่ยวกรำ จากเชื่อเรื่อง ‘สมองดี’ แต่กำเนิด มาเป็นเชื่อใน ‘สมองดี’ ผ่านความมานะพยายามฝึกฝน เพราะไม่ว่าเด็กที่สมองดีแต่กำเนิด สมองปานกลาง หรือสมองช้า หากได้รับการเลี้ยงดู และการศึกษาแบบฝึกกระบวนทัศน์พัฒนา ภายหลังเขาอาจกลายเป็นคน ‘สมองดี’ ก็ได้

enter image description here

‘เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่’ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ‘พรสวรรค์’ ในความหมายทางวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างจากหนังสือ Peak: Secrets from the New Science of Expertise บท Introduction; The Gift เล่าเรื่องพรสวรรค์ของนักดนตรีอย่างโมสาร์ท (Wolfgang Mozart) ที่เดิมเชื่อกันว่า เขาเป็นอัจฉริยะเรื่องการประพันธ์เพลง เพราะมีพรสวรรค์ มีความสามารถในการแยกเสียงดนตรี ที่เรียกว่า Absolute Pitch (AP) หรือ Perfect Pitch มาแต่กำเนิด และเชื่อว่ามีคนที่เกิดมามีพรสวรรค์แบบนี้เพียง 1 ในหมื่นคน

แต่ผลการวิจัยของ อะยะโกะ ซะกะกิบะระ (Ayako Sakakibara) บอกว่า ‘ไม่จริง’ ผลการทดลองของเธอในเด็กอายุ 2-3 ขวบ จำนวน 24 คน บอกว่า เด็กทั้ง 24 คน สามารถแยกเสียงดนตรีได้ทุกคน โดยเด็กบางคนแยกเสียงได้หลังจากใช้เวลาฝึกฝนไม่ถึงปี และคนที่ใช้เวลาฝึกฝนมากที่สุดคือ 1 ปีครึ่ง

แอนเดอร์ส อีริคสัน (Anders Ericsson) ผู้เขียนหนังสือ Peak บอกว่า ผลการวิจัยนี้ประกอบกับการวิเคราะห์ชีวิตของโมสาร์ท สรุปได้ว่า สิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์ด้านดนตรีนั้น ไม่ได้มีมาแต่กำเนิดแล้วคงอยู่ตลอดไป แต่พรสวรรค์สามารถพัฒนาให้มีความพิเศษยิ่งขึ้นได้จากการฝึกฝนอย่างจริงจัง

ดูเหมือนว่าความเข้าใจใหม่เรื่องพรสวรรค์มาบรรจบกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองที่ระบุว่า สมองในวัยเยาว์มีศักยภาพในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อใยประสาทอย่างขนานใหญ่ หรือที่เรียกว่า Brain Adaptability หรือ Plasticity ที่พร้อมต่อการรับแรงกระตุ้นจากประสบการณ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อเนื่อง ให้บรรลุสภาพที่ทำบางสิ่งได้ดีอย่างมหัศจรรย์ หากแรงกระตุ้นนั้นถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่องเพียงพอ

ในขณะเดียวกัน หากสมองที่ดีไม่ได้รับการกระตุ้นและใช้งาน เซลล์ประสาทก็จะถูกทำลายไป คนที่มีพรสวรรค์จึงอาจไม่สามารถพัฒนาต่อได้หากไม่ได้รับการกระตุ้นและฝึกฝนอย่างถูกต้อง

จะเห็นได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีพรสวรรค์ คือ ‘สมอง’ ที่พร้อมจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงจนเกิดความสามารถพิเศษในด้านใดด้านหนึ่งได้ พรสวรรค์อยู่ที่ธรรมชาติของสมองมนุษย์ แต่จะเกิดผลสู่ความสามารถพิเศษหรือไม่ อยู่ที่การฝึกฝนและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

ที่มาบทความ : The Potential

Last updated

Was this helpful?