ตอนที่ 11: ทฤษฎีแห่งสรรพสิ่ง​(Theory​ of​ Everything)​ของลัทธิข้อมูลนิยมกับ​วิถีแห่งตัวตน

โดย ดร. สุวินัย ภรณวลัย

ลัทธิข้อมูลนิยม​ (dataism)​ เกิดขึ้นจากการรวมตัวครั้งใหญ่ของลูกคลื่นสูงสุดของวิทยาศาสตร์สองสาขา​คือวิทยาศาสตร์ชีวภาพกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์​โดยสถาปนากระบวนทัศน์​ (paradigm)​ใหม่ขึ้นมาอันเป็น​ "ทฤษฎีเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถควบคุมหลักวิชาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมดได้" (หน้า​472)

A single​ overarching​ theory that unifies all the​ scientific disciplines

โดยทฤษฎีนี้มีบทเสนอว่า​ศาสตร์ทั้งปวงในโลกนี้ตั้งแต่ดนตรี​วิทยา เศรษฐศาสตร์​ไปจนถึงชีววิทยาล้วนอธิบายได้จากมุมมองแบบข้อมูลนิยมเหมือนกัน กล่าวคือ​เพลงซิมโฟนีหมายเลข​ 5​ ของบีโธเฟน, ฟองสบู่ตลาดหุ้น​และไวรัสไข้หวัดใหญ่ล้วนเป็นแค่ "รูปแบบกระแสข้อมูลสามแบบที่สามารถวิเคราะห์ได้โดยใช้หลักการพื้นฐานและเครื่องมือแบบเดียวกัน" (หน้า​472) แนวคิดแบบข้อมูลนิยมนี้​ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งปวงใช้ภาษาเดียวกัน​จึงสามารถข้ามขอบเขตระหว่างสาขาวิชาได้อย่างง่ายดาย ในกระบวนการนี้​ลัทธิข้อมูลนิยมได้พลิกพีระมิดการเรียนรู้แบบกลับหัวกลับหางจากแต่ก่อน

ในอดีตมนุษย์เคยเชื่อว่า​คนเราต้องกลั่นข้อมูล​ (data)​ ให้ออกมาเป็นสารสนเทศ​(information)​ จากสารสนเทศเป็นความรู้​ (knowledge) และจากความรู้เป็นภูมิปัญญาหรือปัญญาญาณ​ (wisdom) อย่างไรก็ดี​นักข้อมูลนิยมเชื่อว่า​มนุษย์ยุคปัจจุบันไม่สามารถรับมือกับกระแสข้อมูลมหาศาลได้อีกต่อไปแล้ว ถ้าทำตามแนวทางการเรียนรู้แบบเดิม​ พวกเขาย่อมไม่สามารถกลั่นข้อมูลให้เป็นสารสนเทศ​ มิพักพูดถึงความรู้และปัญญาญาณ ดังนั้นงานประมวลผลข้อมูลจึงสมควรมอบหมายให้แก่อัลกอริทึมอิเล็กทรอนิกส์​ซึ่งมีขีดความสามารถล้ำกว่าสมองมนุษย์มาก ตรงนี้เห็นได้ชัดเจนเลยว่า ในยุคข้อมูลนิยม​ คนเราควรทุ่มเทฝึกฝนพัฒนาตนเองผ่านการฝึกทักษะการอ่าน, ทักษะการคิดและทักษะการเขียนแบบไตรภาคี​ (trinity หรือ​三位一体) เป็นหลักโดยผ่านการอ่านหนังสือกระดาษ, การครุ่นคิดไตร่ตรองผ่านการอ่านหนังสือกระดาษ​รวมทั้งการเขียนหนังสือออกมาเป็นหนังสือเล่ม​ แล้วปล่อยงานประมวลผลข้อมูลและสารสนเทศให้อัลกอริทึมอีเล็กทรอนิกส์ช่วยทำแทนเราเพื่อประหยัดพลังงานและเวลาของเราในการค้นข้อมูล​กลั่นข้อมูล

แนวทางแบบนี้​ในวิชาโยคะโบราณ​เรียกว่า​ญาณโยคะ (Yoga​ of​ knowledge)​ หรือหนทางในการพัฒนาจิต​ และยกระดับจิตผ่านการศึกษาหาความรู้แบบสรรพวิชาเพื่อเพิ่มพูนความสามารถในการรับรู้​เรียนรู้สรรพสิ่ง​ รวมทั้งความสามารถในการตัดสินใจไม่ให้ผิดพลาดในเรื่องต่างๆในทุกย่างก้าวของชีวิต

ผม​เชื่อมั่นว่า​แนวทางแบบ​"ญาณโยคะ" เช่นนี้​เป็นแนวทางที่เหมาะสมที่สุดแล้วสำหรับคนยุคนี้​ในการปกป้องตัวตนของตนเองไม่ให้ตกเป็นทาสของอัลกอริทึมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มจะตัดสินใจแทนเราในทุกเรื่อง​ ยิ่งถ้าผนวกเข้ากับการฝึก​"กุณฑาลินีโยคะ" ด้วยยิ่งวิเศษ คนเราต้องมีวิถีแห่งตัวตน​เพื่อป้องกันมิให้ตนเองตกเป็นทาสของระบบข้อมูลนิยม​หรือกลายเป็น​"คนไร้ประโยชน์" ในสายตาของเครือข่ายอัลกอริทึมอันมหึมา​เพราะนั่นคือจุดจบของปัจเจกบุคคลผู้นั้นที่จะกลายเป็นคนไร้ค่า​สำหรับยุคข้อมูลนิยมอย่างช่วยไม่ได้

Last updated