ตอนที่ 12: เราต้องก้าวข้ามแต่หลอมรวมลัทธิข้อมูลนิยม
ในสายตาของนักข้อมูลนิยม สปีซีส์มนุษย์ทั้งหมดเป็นแค่ระบบประมวลผลข้อมูลเดี่ยวแห่งหนึ่ง (a single data-processing system) โดยที่มนุษย์แต่ละบุคคลทำงานเป็น"ชิป" (chips)ในระบบนั้น (หน้า483) ด้วยเหตุนี้ประวัติศาสตร์ทั้งมวลของพวกเซเปียนส์จึงมองได้ว่าเป็น กระบวนการหนึ่งในการพัฒนาประสิทธิภาพของระบบประมวลผลข้อมูลเดี่ยวนี้ โดยผ่านกระบวนวิธีพื้นฐาน 4 แบบคือ
การเพิ่มจำนวนประมวลผล เมืองที่มีพลเมืองมากยิ่งมีพลังการประมวลผลมาก
การเพิ่มความหลากหลายของตัวประมวลผล การใช้ตัวประมวลผลหลายรูปแบบในระบบเดี่ยวระบบหนึ่งจะช่วยเพิ่มความคล่องแคล่วและความคิดสร้างสรรค์ได้
การเพิ่มจำนวนการเชื่อมโยงระหว่างตัวประมวลผล เครือข่ายที่เชื่อมโยงในวงกว้างย่อมก่อให้เกิดนวัตกรรมทางเศรษฐกิจเทคโนโลยีและสังคมมากกว่าเมืองที่อยู่อย่างโดดเดี่ยว
การเพิ่มเสรีภาพในการเคลื่อนตัวตามการเชื่อมโยงที่มีอยู่
การก่อสร้างระบบประมวลผลข้อมูลเซเปียนส์ทำให้เกิดขั้นตอนหลัก 4 ระยะคือ
ระยะแรกเริ่มด้วยการปฏิวัติการรับรู้เมื่อ70,000 ปีก่อน ซึ่งทำให้สามารถเชื่อมโยงเซเปียนส์จำนวนมากเข้ามาในเครือข่ายประมวลผลข้อมูลชุดเดียวกัน
ระยะที่สองเริ่มต้นด้วยการปฏิวัติเกษตรกรรมและดำเนินไปจนกระทั่งถึงการคิดค้นระบบการเขียนแบะเงินตราเมื่อ 5,000 ปีที่แล้ว
ระยะที่สามเริ่มต้นขึ้นด้วยการคิดค้นระบบการเขียนและเงินตราเมื่อ 5,000ปีก่อนและดำรงอยู่จวบกระทั่งการเริ่มต้นปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์
ระยะที่สี่ที่เป็นระยะสุดท้ายของประวัติศาสตร์เริ่มขึ้นราวปีค.ศ.1462 จนถึงปัจจุบันที่สารสนเทศได้ไหลเวียนอย่างเสรีไปทั่วโลกจนมนุษยชาติกลายเป็น"หมู่บ้านโลก" ดังเช่นปัจจุบัน
จากนี้ไปทิศทางของมนุษยชาติในฐานะที่เป็นระบบประมวลผลเดี๋ยวจึงมีแต่มุ่งไปเป็นระบบประมวลผลข้อมูลใหม่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิมคือเป็นอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of All Things) หากภารกิจนี้สำเร็จเมื่อไหร่เมื่อนั้นคือถึงคราวที่เซเปียนส์จะสาปสูญไปจากโลกนี้ (หน้า486) เพราะในมุมมองของข้อมูลนิยม "มนุษย์เป็นแค่เครื่องมือสำหรับสร้างอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่งเท่านั้น"
จากระบบประมวลข้อมูลระดับโลกมันจะแผ่ขยายตนเองไปสู่ระบบประมวลข้อมูลระดับเอกภพนี้ สุดท้ายมันจะวิวัฒน์ต่อไปจนถึงขั้นเป็นระบบประมวลข้อมูลระดับจักรวาลในที่สุดมันจะมีอยู่ทุกแห่งหนและควบคุมทุกสิ่ง โดยที่มนุษย์ถูกกำหนดชะตาไว้ให้ควบรวมเข้าไปกับมัน โฮโมเซเปียนส์จะกลายเป็นอัลกอริทึมที่ตกยุคถ้าไม่สามารถยกระดับจิตอัปเกรดจิตใจและปัญญาญาณให้สอดคล้องกับระบบประมวลข้อมูลระดับโลกที่กำลังรุดหน้าพัฒนาตัวเองอย่างรวดเร็วไปสู่ซิงกูลาริตี้ (Singularity) แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงจากสิ่งที่กำลังเกิดในอนาคต นี่คือความจริงอย่างยิ่ง กึ๋นเรื่องวิชั่นของผู้นำที่สามารถมองอนาคตขาดด้วยหน่วยเวลาสามสิบ ห้าสิบปี หรือร้อยปีขึ้นไปดุจมีตาทิพย์คือตัวชี้ขาดว่าจะนำพาผู้คนไปรอดหรือไม่รอด
เราต้องมองและตั้งโจทย์ว่าหลีกเลี่ยง "ความจริงใหม่"นี้ไม่ได้ แล้วถามตัวเองว่าเราจะเป็น อัศวินเจได หรือนีโอใน Matrix หรือเป็นพุทธะหรือพระอวโลกิเตศวร ในยุคข้อมูลนิยมได้อย่างไร? คนที่ตอบว่า "อย่าไปสนใจ เราคงตายก่อน ปล่อยให้คนรุ่นหลังเผชิญชะตากรรมตามยถากรรมกันเอง" คือ คนที่ใจแคบ จิตต่ำต้อย และด้อยปัญญา ในการช่วยชี้ทางให้คนรุ่นหลัง
จิต (consciousness) และจิตวิญญาณ(spirit) หรือธรรมจิตก็มีจริง แต่วิญญาณ (soul) ที่เป็นนิรันดร์ไม่มีจริง พวกข้อมูลนิยมจึงพูดถูกแค่ครึ่งเดียวคือเรื่อง soul ไม่มีจริง แต่พวกข้อมูลนิยมหลงผิดอย่างสิ้นเชิงที่ไม่ยอมรับว่าจิต (consciousness) มีจริง มีแต่ยอมรับและเข้าใจว่าจิตมีจริงก่อน ถึงจะมีปัญญาญาณเข้าใจได้ว่าจิตวิญญาณที่รูปการพัฒนาสูงสุดคือพุทธะก็มีจริงด้วยเช่นกัน นี่คือหนทางในการ "ก้าวข้ามแต่หลอมรวม" ลัทธิข้อมูลนิยม
Last updated